Abstract:
ปัจจุบันมีการใช้น้ำยาล้างคลองรากฟันหลายชนิดร่วมกันเพื่อกำจัดเชื้อโรคและชั้นสเมียร์ซึ่งอาจมีสิ่งตกค้างอยู่บนผิวฟันและท่อเนื้อฟันส่งผลต่อความแข็งแรงพันธะระหว่างซีลเลอร์อุดคลองรากฟันกับเนื้อฟันได้ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปริมาณสิ่งสะสมบนผิวเนื้อฟันและความแข็งแรงพันธะระหว่างซีลเลอร์อุดคลองรากฟันชนิดเมทาคริเลตเรซินกับเนื้อฟันในส่วนรากฟันเมื่อใช้คลอเฮกซิดีนร่วมกับน้ำยาล้างคลองรากฟันชนิดอื่น โดยเตรียมชิ้นฟันจากเนื้อฟันในรากฟัน 80 ซี่ให้มีขนาด 5 มม.*5 มม. แบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 16 ซี่ ซี่ละ 2 ชิ้น นำไปแช่ในน้ำยาดังนี้ กลุ่มที่ 1 แช่ในน้ำยากลั่น กลุ่มที่ 2 แช่ในโซเดียมไฮโปคลอไรต์ เอทิลีนไดเอมีนเตตราอะซิติกเอซิด (EDTA) แล้วตามด้วยน้ำกลั่น กลุ่มที่ 3 แช่โซเดียมไฮโปคลอไรต์ EDTA แล้วตามด้วยคลอเฮกซิดีน กลุ่มที่ 4 แช่โซเดียมไฮโปคลอไรต์ EDTA คลอเฮกซิดีน แล้วตามด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรต์ กลุ่มที่ 5 แช่โซเดียมคลอไรต์ EDTA โซเดียมไฮโปคลอไรต์แล้วตามด้วยคลอเฮกซิดีนนำชิ้นฟัน 1 ชิ้น ในแต่ละซี่ไปประเมินพื้นที่สิ่งสะสมบนผิวเนื้อฟันโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด ส่วนอีกชิ้นนำไปยึดกับซีลเลอร์อุดคลองรากฟันชนิดเมทาคริเลตเรซินแล้วทดสอบความแข็งแรงพันธะระหว่างซีลเลอร์กับเนื้อฟันด้วยวิธีมอดิฟายด์ไมโครเชียร์ ผลการศึกษาพบว่าชนิดและลำดับของน้ำยาล้างคลองรากฟันที่แตกต่างกันมีผลต่อพื้นที่สิ่งสะสมบนผิวฟัน โดยกลุ่มที่ 1 มีสิ่งสะสมมากที่สุดซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 3 ส่วนค่าความแข็งแรงพันธะพบว่ากลุ่มที่ 3 สูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 สำหรับลักษณะความล้มเหลวของการยึดติดในทุกกลุ่มจะเกิดบริเวณรอยต่อระหว่างซีลเลอร์กับผิวฟันเป็นส่วนใหญ่ จากการทดลองนี้สรุปได้ว่าการใช้น้ำยาล้างคลองรากฟันโซเดียมไฮโปคลอไรต์ตามด้วย EDTA แล้วตามด้วยคลอเฮกซิดีนทำให้ความแข็งแรงพันธะระหว่างซีลเลอร์อุดคลองรากฟันชนิดเมทาคริเลตเรซินกับเนื้อฟันในส่วนรากฟันสูงที่สุดแต่ไมมีความสัมพันธ์กับพื้นที่สิ่งสะสมบนผิวฟัน