Abstract:
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของลักษณะการอยู่รอดในไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์ประดู่หางดำครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของการใช้โมเดลการอยู่รอด ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอด และประมาณค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะการอยู่รอดในไก่พื้นเมืองพันธุ์ไทยพันธุ์ประดู่หางดำโดยใช้ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและบำรุงพัฒนาสัตว์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2548 ข้อมูลมีการบันทึกไว้ทั้งหมด 3 ชั่วอายุ จำนวน 59,499 บันทึก การศึกษาเกี่ยวกับการอยู่จะแบ่งลักษณะการอยู่รอดออกเป็น 3 ระยะตามช่วงอายุตามธรรมชาติของการเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์และรูปแบบการเลี้ยง คือ ลักษณะการอยู่รอดที่อายุ 0-6 สัปดาห์ (SURV1) ลักษณะการอยู่รอดที่อายุ 6-24 สัปดาห์ (SURV1) ลักษณะการอยู่รอดที่อายุ 24-77 สัปดาห์ (SURV3) ศึกษาลักษณะการอยู่รอดจนถึงวัยเจริญพันธุ์ และลักษณะการอยู่รอดจนถึงปลดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ลักษณะการอยู่รอดที่อายุ 0-24 สัปดาห์ (SURV12) และลักษณะการอยู่รอดที่อายุ 0-77 สัปดาห์(SURV123) การวิเคราะห์การอยู่รอดจากการประมาณโมเดลการอยู่รอดโดยใช้ PROC LIFEREG ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SAS การจัดเรียงหมายเลขประจำตัวสัตว์ภายในแฟ้มข้อมูลพันธุ์ประวัติและแฟ้มข้อมูลการอยู่รอดโดยใช้โปรแกรม BLUPF90-chickenPAK2.5 เพื่อนำมาประมาณค่าองค์ประกอบความแปรปรวนด้วยโปรแกรม survival Kit (V3.12) และหาค่าอัตราพันธุกรรมโดยวิธี Logarithmic scale จากการศึกษา พบว่าโมเดลที่เหมาะสมคือ Weibull model และค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะ SURV1 SURV2 SURV3 SURV12 และ SURV123 มีค่าเท่ากับ 0.11 0.18 0.25 0.03 และ 0.08 ตามลำดับ.