Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการทำงานเป็นเครือข่ายข้ามพรมแดนและบทบาทในการสร้างเสริมความมั่นคงของมนุษย์ขององค์กรมุสลิมข้ามชาติ โดยเน้นศึกษากรณีการดำเนินงานขององค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งซาอุดีอาระเบียในประเทศไทย กรอบความคิดที่ใช้ในการศึกษาวิจัยนี้ประกอบด้วยหลายแนวคิด โดยใช้แนวคิดพหุนิยมเป็นกรอบความคิดหลักในการศึกษา และอธิบายปรากฏการณ์ในมิติที่แตกต่างกันโดยใช้กรอบความคิดย่อยต่างๆ ร่วมกัน อันประกอบด้วย แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ข้ามชาติ แนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ แนวคิดเรื่องประชาสังคม แนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ แนวคิดเรื่องภราดรภาพในอิสลาม และแนวคิดเรื่องประชาคมมุสลิม จากการศึกษาพบว่า องค์การสงเคราะห์มุสลิมนานาชาติแห่งซาอุดีอาระเบียเป็นกลุ่มนิยมแนวทางอิสลามที่ดำเนินกิจกรรมบรรเทาทุกข์เป็นเครือข่ายข้ามชาติในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และมีการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ทุกข์ร้อนและด้อยโอกาสควบคู่กับการพัฒนาจิตใจ โดยใช้แนวทางแห่งศาสนาอิสลาม อันเป็นบทบาทที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ในทัศนะอิสลามซึ่งแตกต่างจากคำนิยามอื่นๆ ในลักษณะที่ อิสลามมิได้มองความมั่นคงของมนุษย์เพียงแค่ในมิติของโลกนี้เท่านั้น หากแต่มีเป้าหมายให้มนุษย์มีความมั่นคงที่ยั่งยืนในโลกหน้าอีกด้วย การศึกษายังให้ข้อค้นพบว่า การดำเนินงานขององค์กรมุสลิมข้ามชาติมีโลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในลักษณะที่เอื้ออำนวยและเป็นอุปสรรค ในด้านที่เอื้ออำนวย ได้แก่ ความสอดคล้องกันของโลกาภิวัตน์และอุมมะฮ์ในมิติของความสัมพันธ์ข้ามชาติ ความเข้มแข็งอัตลักษณ์ของมุสลิมในลักษณะที่ปรับเปลี่ยนไปสู่อิสลาม “บริสุทธิ์” และการเอื้ออำนวยของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนในด้านที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ การที่อัตลักษณ์มุสลิมถูกกัดกร่อนและทำลายในกระบวนการโลกาภิวัตน์ และการที่โครงสร้างพื้นฐานในโลกาภิวัตน์เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานขององค์กร โดยพบว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้องค์กรมุสลิมข้ามชาติถูกจำกัดการดำเนินงานด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของโลกาภิวัตน์