Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาด้านวัฒนธรรมดนตรีของภาคกลาง และภาคอีสานใต้ โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากศิลปินดนตรีพื้นบ้านและช่างทำเครื่องดนตรีในเขตภาคกลาง 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปราจีนบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุทัยธานี และกรุงเทพมหานคร และภาคอีสานใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา จากการศึกษาพบว่า ภาคกลางนั้นมีดนตรีประเภทเพลงร้องเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เพลงพื้นบ้านของชุมชนต่างๆ เช่น เพลงพื้นบ้านท่าโพ ของชาวตำบลท่าโพ จังหวัดอุทัยธานี เพลงพื้นบ้านพนมทวนของชาวอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และเพลงพื้นเมืองที่เป็นที่รู้จักในภาคกลางทั่วไป ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงอี-แซว เพลงขอทาน เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย ลำตัด เพลงหางเครื่อง เพลงกล่อมลูก เพลงปรบไก่ การรำโทน นอกจากนี้ยังมีการแสดงกลองยาว เป็นต้น จังหวัดที่มีวัฒนธรรมการบรรเลงดนตรีแบบมอญ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ซึ่งมีการร้อง และบรรเลงเพลงทะแยมอญเป็นต้น ส่วนดนตรีที่มีชื่อเสียงของภาคอีสานใต้ ได้แก่ วงกันตรึม วงมโหรีเขมร วงปี่พาทย์พื้นบ้าน วงมะม้วด แต่หมอลำปรากฎเป็นที่นิยมในจังหวัดอุบลราชธานีเพียงจังหวัดเดียว งานวิจัยค้นพบข้อสรุปของดนตรีพื้นบ้านในด้านวิวัฒนาการ ด้านการบรรรเลง ด้านพิธีกรรม และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดดนตรี รวมถึงกรรมวิธีการสร้างเครื่องดนตรี ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นบางส่วนทั้งในด้านการบรรเลง พิธีกรรม และความเชื่อของศิลปิน รวมถึงวิวัฒนาการของการสร้างเครื่องดนตรี แต่ก็ยังมีดนตรีพื้นบ้านบางพื้นที่ที่คงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมดนตรีแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นตนไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง