Abstract:
การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการระงับความรู้สึกที่แผงประสาทบราเคียล โดยใช้ทรามาดอลร่วมกับบูพิวาเคนเทียบกับบูพิวาเคนเพียงชนิดเดียว ในสุนัขที่ได้รับการทำศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ขาหน้าตั้งแต่ระดับข้อศอกลงมา แบ่งสุนัขเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 10 ตัว ได้แก่ กลุ่มควบคุมได้รับบูพิวาเคนขนาด 1.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกลุ่มทดลองได้รับทรามาดอลขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมร่วมกับบูพิวาเคน ขนาด 1.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยสุนัขทุกตัวได้รับยาเตรียมการสลบด้วยเอซโปรมาซีนร่วมกับเฟนทานิลขนาดเดียวกันฉีดเข้ากล้ามเนื้อ นำสลบด้วยโปรโปฟอล และรักษาระดับการสลบด้วยยาดมสลบไอโซฟลูเรน ระหว่างการทำศัลยกรรมมีการเฝ้าระวังการสลบโดยบันทึกค่าสัญญาณชีพต่างๆ และเริ่มบันทึกคะแนนความปวดหลังเสร็จสิ้นการทำศัลยกรรม (ชั่วโมงที่ 0) ทุก 30 นาทีจนสิ้นสุดการทดลองเมื่อสุนัขมีความปวดระดับปานกลาง (คะแนนมากกว่า 8 จาก 27) ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) ระหว่างอายุ น้ำหนัก ระยะเวลาสลบ ระยะเวลาการทำศัลยกรรม ระยะเวลาการเริ่มออกฤทธิ์ระงับความรู้สึก และค่าสัญญาณชีพต่างๆ ขณะทำการศัลยกรรม พบค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของก๊าซไอโซฟลูเรนที่ใช้ในสุนัขกลุ่มทรามาดอล ซึ่งวัดจากลมหายใจออกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ระยะเวลาการระงับความปวดภายหลังการทำศัลยกรรมสุนัขกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยพบว่าชั่วโมงที่ 4 หลังการทำศัลยกรรมสุนัขในกลุ่มทรามาดอลมีคะแนนความปวดระดับปานกลางจำนวน 3 ตัว ในขณะที่พบในกลุ่มควบคุมจำนวน 8 ตัว พบอาการแพ้บริเวณผิวหนัง ในสุนัขกลุ่มทรามาดอลจำนวน 2 ตัว อาการน้ำลายไหลมากในสุนัขกลุ่มทรามาดอล และกลุ่มควบคุมจำนวน 3 และ 4 ตัวตามลำดับ จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า การให้ทรามาดอลร่วมกับบูพิวาเคนมีประสิทธิภาพในการควบคุมความปวด ทั้งระหว่างการศัลยกรรมและหลังการศัลยกรรม โดยลดความต้องการยาดมสลบในระหว่างการทำศัลยกรรมได้มากกว่า และควบคุมความปวดหลังการทำศัลยกรรมได้ยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับการใช้บูพิวาเคนเพียงชนิดเดียว และสามารถใช้ระงับความรู้สึกที่แผงประสาทบราเคียล ในสุนัขที่เข้ารับการทำศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ขาหน้าท่อนล่างได้อย่างปลอดภัย.