Abstract:
การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการระงับปวดภายหลังการผ่าตัดของทรามาดอล ไฮโดรคลอไรด์ กับบูพิวาเคน ไฮโดรคลอไรด์ โดยการฉีดเข้าข้อต่อในสุนัขที่เข้ารับการทำศัลยกรรมข้อเข่า ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม ได้รับน้ำเกลือ ขนาด 0.2 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 ได้รับทรามาดอล ไฮโดรคลอไรด์ ขนาด 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เจือจางด้วยน้ำเกลือให้ได้ปริมาตรเท่ากับ 0.2 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม และกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 2 ได้รับบิวพิวาเคน ไฮโดรคลอไรด์ ขนาด 0.2 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ฉีดเข้าข้อเข่าภายหลังผ่าตัด บันทึกคะแนนความปวด คะแนนการเดินกะเผลก และคะแนนช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อก่อนผ่าตัด และชั่วโมงที่ 1, 2, 3, 4, 6, 8, 10, 12, 15, 18, 21 และ 24 ภายหลังผ่าตัด ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มบิวพิวาเคนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความปวดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในทุกชั่วโมงภายหลังผ่าตัด และกลุ่มทรามาดอลมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มควบคุมในชั่วโมงที่ 1 และ 2 ภายหลังผ่าตัด แต่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มบิวพิวาเคนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในชั่วโมงที่ 3, 4, 10, 15, 18 และ 24 ภายหลังผ่าตัด กลุ่มบิวพิวาเคนมีค่าเฉลี่ยช่วงการเคลื่อนไหวของข้อต่อน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ชั่วโมงที่ 4 และ 6 ภายหลังผ่าตัด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p<0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ของคะแนนการเดินกะเผลก
พบว่าไม่มีสุนัขตัวใดได้รับยาเฟนทานิลเพื่อระงับปวดหลังผ่าตัดเพิ่มเติม และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ของค่าเฉลี่ยสัญญาณชีพต่างๆ ระหว่างผ่าตัด สุนัขทุกตัวมีน้ำลายไหลมากในชั่วโมงที่ 1 หลังผ่าตัด จากการศึกษาสรุปว่าการฉีดบิวพิวาเคน ไฮโดรคลอไรด์ และทรามาดอล ไฮโดรคลอไรด์ โดยการฉีดเข้าข้อเข่าภายหลังการศัลยกรรมข้อเข่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยบิวพิวาเคน และทรามาดอล ลดคะแนนความปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันในช่วง 2 ชั่วโมงแรกภายหลังผ่าตัด หลังจากนั้นบิวพิวาเคนออกฤทธิ์ได้ดีกว่าตลอด 24 ชั่วโมงที่ศึกษา