Abstract:
วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ว่าการนำระบบกรรมสิทธิ์มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดิน ได้ส่งผลทำให้ทรัพยากรที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอย่างไร และผล ดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอันเกิดจาก ที่ดินในลักษณะอย่างไร โดยพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินเอกชน ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินเอกชนของไทยตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ทั้งนี้ โดยอาศัยกรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์การเมือง จากการศึกษาทำให้ทราบว่า รัฐได้ใช้อำนาจในการจัดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชนที่มุ่ง สนองตอบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมืองและนโยบายของผู้กุมอำนาจรัฐในแต่ละช่วงสมัย โดยใน สมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นวิถีการผลิตเพื่อ ยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อการค้า ซึ่งกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิการใช้ที่ดินในอดีตไม่ เหมาะสมกับการผลิตเพื่อการค้า และการสะสมทุน รัฐจึงต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบในการ จัดการที่ดินโดยสร้างระบบความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ในช่วงสมัยต่อมาได้มีการเร่งรัด จัดทำระบบกรรมสิทธิ์โดยเร่งออกเอกสารสิทธิในที่ดินอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ เพื่อเร่งรัดการผลิต ซึ่งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ทั้งนี้ ผลจากการจัดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ของรัฐ ทำให้ที่ดินกลายสภาพเป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจ เกิดมูลค่าในความเป็นเจ้าของที่ดินและ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้สะดวกในระบบตลาดเสรี จึงนำไปสู่การเปลี่ยนมือจากเกษตรกรสู่ นายทุนและกลุ่มคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่า และทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ตามมาด้วย นอกจากนี้ รัฐยังไม่สามารถควบคุมดูแลให้การจัดสรรทรัพยากรที่ดินมีความเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย จึงมีปัญหาการนำกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการออกเอกสาร สิทธิโดยมิชอบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าระบบกรรมสิทธิ์ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ ทำให้ประชาชนสามารถรักษาพื้นที่ดินเอาไว้ได้เสมอไป เนื่องจากรัฐมองกรรมสิทธิ์ในแง่มุมของ ระบบทุนนิยมเพียงอย่างเดียวจึงไม่มีมาตรการควบคุมปัญหาที่จะเกิดตามมาอย่างเป็นระบบที่จะ เป็นหลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดินอย่างเพียงพอ