Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยวของผู้ป่วยไทยที่มีอาการเท็มโพโรแมนดิบูลาร์ดิสออเดอร์ เมื่อใช้อาหารไทยเป็นตัวประเมิน โดยทำการศึกษาในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษาแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยว โดยสัมภาษณ์กลุ่มผู้ป่วยเท็มโพโรแมนดิบูลาร์ดิสออเดอร์ จำนวน 30 คนเกี่ยวกับชนิดอาหารที่มีผลต่ออาการเจ็บปวด แล้วนำรายการอาหารมาสร้างแบบสอบถามความคิดเห็นต่อความเหนียว/แข็งของอาหาร เพื่อให้กลุ่มคนทั่วไปจำนวน 200 คน ให้คะแนนระดับความเหนียว/แข็งของอาหารนั้น ๆ ในขั้นตอนนี้ได้ตัวแทนอาหารทั้งหมด 7 ชนิดสำหรับแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยว จากนั้นทดสอบความถูกต้องและความเชื่อถือได้ของแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยวที่สร้างขึ้นในขั้นตอนที่ 2 โดยทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มคนทั่วไปจำนวนกลุ่มละ 36 คน ทดสอบความถูกต้องตามเกณฑ์โดยเปรียบเทียบกับค่าสมรรถภาพการบดเคี้ยวด้วยวิธีตะแกรงร่อนของ Ernest วัดค่าความเชื่อถือได้ของแบบสอบถามด้วยการวัดซ้ำ
โดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 72 คน ทำแบบสอบถามเดิมซ้ำหลังจากครั้งแรก 1 อาทิตย์ พบว่าแบบสอบถามที่สร้างขึ้นมีความถูกต้องในเนื้อหาและความถูกต้องในทัศนะของผู้เกี่ยวข้องในระดับหนึ่งอีกทั้งมีความถูกต้องในแง่ที่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลประกอบ คือแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยวนี้สามารถแยกกลุ่มคนทั่วไปกับกลุ่มผู้ป่วยออกจากกันได้และสามารถแยกกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับอาการเจ็บปวดแตกต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดน้อยจะมีค่าความสามารถในการบดเคี้ยวสูงกว่าผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดมากกว่า ความถูกต้องของการวัดโดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานพบว่าอยู่ในระดับปานกลาง (correlation coefficient = 0.594) และแบบสอบถามนี้มีค่าความเชื่อถือได้ (correlation coefficient = 0.968)ด้วยวิธีการวัดซ้ำอยู่ในระดับสูง โดยสรุปแบบสอบถามวัดความสามารถในการบดเคี้ยวที่สร้างขึ้นสามารถนำมาวัดค่าความสามารถในการบดเคี้ยวในผู้ป่วยไทยที่มีอาการเท็มโพโรแมนดิบูลาร์ดิสออเดอร์ทางคลินิกได้สะดวก ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและไม่ใช้อุปกรณ์ใด ๆ เพิ่มเติม แต่เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มพื้นที่ อาจมีข้อจำกัดในการขยายผลไปยังกลุ่มประชากรอื่น ๆ