Abstract:
ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการได้ประโยชน์จากการปันผลทางประชากร โดยอาศัยการวิเคราะห์การถดถอยข้อมูลอนุกรมเวลาของ 131 ประเทศ ซึ่งจำแนกเป็น 8 ภูมิภาค ในช่วงปี พ.ศ. 2513-2548 เพื่อหาหนทางให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อบุคคล และมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่า อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อบุคคล แปรผันตามอัตราการเจริญเติบโตของสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน อัตราการเจริญเติบโตของจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งวัดโดยอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพของปัจจัยการผลิตโดยรวมและระดับการเปิดประเทศ ซึ่งวัดโดยร้อยละของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงมีโอกาสในการได้ประโยชน์จากการปันผลทางประชากรครั้งที่ 1 แม้ว่าสัดส่วนประชากรวัยแรงงานจะลดลงในอนาคต ทั้งนี้จากการคาดประมาณพบว่า ประเทศไทยจะสามารถมีการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อบุคคล และมาตรฐานการครองชีพได้อย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐดำเนินนโยบายที่สามารถเพิ่มปัจจัยอื่นๆ เพื่อชดเชยการลดลงของสัดส่วนประชากรวัยแรงงานได้ เมื่อพิจารณาโอกาสในการได้ปันผลทางประชากรครั้งที่ 2 ของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการได้ปันผลทางประชากรครั้งที่ 2 ไม่มากนัก เนื่องจากประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย สามารถสะสมความมั่งคั่งได้ค่อนข้างน้อย ทำให้เงินทุนที่จะโอนให้แก่ประชากรวัยสูงอายุเพื่ออุดหนุนการบริโภคมีน้อยตามไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่า อาจเป็นการยากที่ประเทศไทยจะได้ปันผลทางประชากรครั้งที่ 2 อย่างยั่งยืน เนื่องจากความมั่งคั่งที่โอนให้แก่ประชากรวัยสูงอายุในรูปของเงินโอนจากภาคครัวเรือนมีสัดส่วนที่สูง โดยเงินโอนจากภาคครัวเรือนถือเป็นรูปแบบเงินโอนที่ไม่ยั่งยืนภายใต้ภาวะเจริญพันธุ์และภาวะการตายที่ต่ำ ซึ่งทำให้ประชากรวัยสูงอายุมีการเติบโตเร็วกว่าประชากรวัยแรงงาน ทั้งนี้ ระบบบำนาญแห่งชาติภาคบังคับที่ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเป็นระบบที่เน้นการออมและการลงทุนของประชากรวัยแรงงานในช่วงเวลาทำงาน น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับการปันผลทางประชากรครั้งที่ 2 อย่างยั่งยืน