Abstract:
ศึกษาสภาพการทำงานและปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบในประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวทางการปรับปรุงสภาพการทำงานที่เหมาะสมตามสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณได้ใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี พ.ศ. 2551 ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น 76,398 ราย และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแรงงานนอก ระบบทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ และแรงงานรับเหมาช่วง รวมจำนวน 17 ราย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลการวิจัยพบว่า แรงงานนอกระบบที่มีคะแนนสภาพการทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีจำนวนมากถึง 38.6% ปัญหาสำคัญที่แรงงานเหล่านี้ประสบ ได้แก่ จำนวนชั่วโมงการทำงานเกินกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด (45.3%) รองลงมาคือ การประสบปัญหาจากการทำงาน (22.7%) ผลการวิเคราะห์การจำแนกพหุพบว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจสามารถอธิบายความแปรผันของคะแนนสภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบได้มากที่สุด (5.6%) รองลงมาคือ ปัจจัยด้านสังคม (5.4%) และปัจจัยด้านประชากร (0.5%) โดยทั้ง 3 ปัจจัยสามารถร่วมกันอธิบายความแปรผันของคะแนนสภาพการทำงานได้ 9.3% และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 หลังจากควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระอื่นๆ ทุกตัวแล้วพบว่า ภาคที่อยู่อาศัยสามารถอธิบายการแปรผันของคะแนนสภาพการทำงานมากที่สุด 18.3% และมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนผลการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า แรงงานนอกระบบเหล่านี้มีสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมนัก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานในระบบ ได้แก่ การมีจำนวนชั่วโมงทำงานที่ยาวนานกว่า และมีการทำงานตลอดทั้งสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และเมื่อแรงงานเหล่านี้ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะใช้วิธีรักษาตนเองโดยการซื้อยามารับประทาน ด้วยเหตุที่แรงงานนอกระบบไม่ได้เป็นผู้ประกันตน จึงไม่อาจเข้าสู่ระบบการรักษาหรือตรวจสุขภาพร่างกาย ได้เช่นเดียวกับแรงงานที่มีประกันสังคมหรือแรงงานในระบบได้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรมีนโยบายเน้นการสร้างหลักประกันทางสังคมและดูแลสภาพการทำงานให้แก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นการดียิ่งในอันที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงานนอกระบบเหล่านี้ให้ดีกว่าเดิม