Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรง (validation) ของโมเดลเชิงสาเหตุของความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน : การประยุกต์โมเดลความต้องการทรัพยากรของงาน 2) เพื่อศึกษารูปแบบอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้คือ พนักงานบริษัทจำนวน 523 คน ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยตัวแปรแฝง 4 ตัวแปร คือ 1) ภาระงาน วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 1 ตัว คือ การรับรู้ภาระงาน 2) บรรยากาศในการทำงาน วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว คือ การมีอิสระในงาน การสนับสนุนทางสังคมในการทำงาน การยุติธรรมในการทำงาน 3) ลักษณะด้านบวกเฉพาะบุคคล วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัว คือ การมองโลกในแง่ดี ความมุ่งมั่นด้วยตนเอง 4) ความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน วัดจากตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัว คือ ความรู้สึกอ่อนล้า ความเย็นชา ความมีประสิทธิผลในการทำงาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ มาตรวัดประมาณค่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงตั้งแต่ .580-.932 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์โมเดลลิสเรล ผลการวิเคราะห์โมเดลเชิงโครงสร้างชี้ว่า 1. ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดลเชิงสาเหตุตามที่ตั้งไว้ตามกรอบวิจัย พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างปานกลาง มีค่า χ2 = 79.784, df = 28, p = 0.000, RMSEA = 0.0595, RMR = 0.0470, GFI = 0.965, AGFI = 0.944 2. ผู้วิจัยเสนอโมเดลเชิงสาเหตุแบบย้อนกลับอีกหนึ่งโมเดล (เพิ่มความสัมพันธ์ของตัวแปรภาระงาน และบรรยากาศในการทำงานให้มีความสัมพันธ์ย้อนกลับกัน) ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดล พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมาก มีค่า χ2 = 22.137, df = 18, p = 0.226, RMSEA = 0.021, RMR = 0.013, GFI = 0.991, AGFI = 0.977