Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการคือ 1. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางประชากรกับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครกับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 3. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคราเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 4. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การวิจัยครั้งนี้กระทำกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 1140 คน ทันทีที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งออกจากคูหาเลือกตั้ง (Exit Poll) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบสอบถาม ใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows ประมวลผลข้อมูล ใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ และไคแสควร์ (chi-square) ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ต่างเพศกัน มีอายุต่างกัน และมีการศึกษาต่างกันเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่แตกต่างกัน 2. ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่ถูกอ้างถึงมากที่สุด คือ ความคิดของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเอง 3. เหตุผลที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคามีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เหตุผลดังกล่าวได้แก่ 1) ความชื่นชมในตัวผู้สมัคร 2) ไม่ใช่ความชอบนโยบายของผู้สมัคร 3) ไม่ใช่ความชอบพรรคของผู้สมัคร 4) ไม่ใช่ความสงสารผู้สมัครเพราะกลัวจะแพ้หรือได้คะแนนเสียงน้อย 4. การไม่เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร