Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย ความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต และความหมายในชีวิตของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสานวิธีประเภทเชิงสามเส้าแบบเกิดพร้อมกัน กลุ่มตัวอย่างคือ ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่รับการรักษาที่หอผู้ป่วยตึกว่องวานิชชั้น 3 5 6 7 และศูนย์เคมีบำบัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 200 ราย เครื่องมือวิจัยได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล มาตรวัดประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย มาตรวัดความเครียดในการดูแลผู้ป่วย มาตรวัดความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต มาตรวัดความหมายในชีวิต มาตรวัดความมุ่งหวังในชีวิต และชุดคำถามสัมภาษณ์ ผลการวิจัยพบว่า 1) ญาติผู้ดูแลเพศหญิงจะมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามไม่แตกต่างจากญาติผู้ดูแลที่เป็นเพศชาย 2) ญาติผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสจะมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามแตกต่างจากญาติผู้ดูแลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต 3) อายุ เพศ ระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วย จำนวนชั่วโมงในการดูแลผู้ป่วยต่อวัน ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยอื่น ประเภทความสัมพันธ์ ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย และความเครียดในการดูแลผู้ป่วยมีความสัมพันธ์และทำนายความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามได้ร้อยละ 29 4) อายุ เพศ ระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วย จำนวนชั่วโมงในการดูแลผู้ป่วยต่อวัน ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยอื่น ประเภทความสัมพันธ์ ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย ความเครียดในการดูแลผู้ป่วย และความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตมีความสัมพันธ์และทำนายความหมายในชีวิตของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามได้ ร้อยละ 14 ทำนายความมุ่งหวังในชีวิตได้ร้อยละ 43 5) ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจำนวน 7 ราย สนับสนุนข้อมูลเชิงปริมาณที่ว่าแม้ว่าจำนวนการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลสูงแต่กลับมีความรู้สึกเป็นภาระและความรู้สึกกดดันทางด้านร่างกายและจิตใจอันเป็นผลจากการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ญาติผู้ดูแลมีความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตและมีความหมายในชีวิตสูง มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเป็นความรับผิดชอบที่พึงกระทำและเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของตน