Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด ขั้นตอน และกระบวนการป้องกันและจัดการความขัดแย้งโดยยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในพระวินัยปิฎก และนำแนวทางการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวไปเสนอแนะเพื่อปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยปัจจุบัน เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการวิจัยเอกสาร จากพระไตรปิฎกภาษาไท ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉพาะพระวินัยปิฎก (พระไตรปิฎก เล่มที่ 1-8) ผลการศึกษาพบเหตุการณ์ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งทั้งหมด 551 เรื่อง มีสาเหตุหลักมาจากกิเลส 3 ประกา ซึ่งสรุปขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งได้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการเกิดอธิกรณ์ ขั้นตอนที่มีผู้นำอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นไปกราบทูลพระพุทธเจ้า และขั้นตอนการระงับอธิกรณ์ ในกระบวนการดังกล่าวพระพุทธเจ้าได้กำหนดข้อปฏิบัติ (สิกขาบท) เพื่อจัดการความขัดแย้ง และป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ส่วนแนวคิดและลักษณะสำคัญของการจัดการความขัดแย้ง พบว่าในพระวินัยปิฎกให้ความสำคัญกับการใช้เหตุผลและปัญญา กระบวนการประชุมสงฆ์ (สังฆกรรม) และการไกล่เกลี่ย โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้โจทก์ ผู้ถูกโจทก์ และผู้ไกล่เกลี่ย รวมถึงหลักธรรมที่เหมาะสมต่อผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และผู้ไกล่เกลี่ย ได้แก่ อภัยทาน กุศลมูล-อกุศลมูล หิริ-โอตตัปปะ อคติ 4 และโยนิโสมนสิกา อีกทั้งพบว่าวิธีการดังกล่าวเป็นแบบ Win-win Methods สามารถใช้จัดการความขัดแย้งได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับบ่มเพาะความขัดแย้ง ระดับความขัดแย้งปรากฏ ระดับการช่วงชิงอำนาจ จนถึงระดับความขัดแย้งขั้นอันตราย นอกจากนี้การจัดการความขัดแย้งในพระวินัยปิฎกยังสอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรม เชิงสมานฉันท์ โดยเป็นกระบวนการสันติวิธีที่ครอบคลุมหลักยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ 4 ประการ ได้แก่ หลักบุคคลนิยม การเยียวยา การกลับคืนสู่สังคม และการมีส่วนร่วม ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมปัจจุบัน