Abstract:
งานวิจัย "กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับกรณีศึกษาไทย" ศึกษาการวิเคราะห์วาทกรรม ซึ่งมีการตื่นตัวอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุโรป ในประเทศไทย ในงานด้านนิเทศศาสตร์ คำว่า "วาทกรรม" เพิ่มแพร่หลายไม่นานนัก งานวิจัยได้ยึดแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ นักคิดชาวฝรั่งเศสเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาหากรอบวิเคราะห์วาทกรรมแนวคิดของฟูโกต์ที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อุดมการณ์ ความเป็นใหญ่ ตรรกะและกฎเกณฑ์ที่จะทำให้วาทกรรมต่างๆ เกิดเป็นชุดความรู้ในยุคหนึ่งๆ เกิดการซ้อนทับ เคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงจนทำให้วาทกรรมชุดหนึ่งๆ หาตัวประธานไม่ได้ การกดทับ ปิดบัง ซ่อนเร้น ทำให้สิ่งใดกลายเป็นสิ่งพูดได้พูดไม่ได้ในยุคหนึ่งๆ จากแนวคิดของฟูโกต์ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ผนวกงานของนอร์แมน แฟร์คลาฟ นักภาษาศาสตร์ผู้ซึ่งเสนอว่าวาทกรรมผลิตหรือสถาปนาตัวตนหรืออัตลักษณ์ของประธาน ประธานผู้ผลิตสร้างวาทกรรม มีความสำคัญพอๆ กับที่วาทกรรมสร้าง/ผลิตประธานและโดยภาคขยาย สังคมผลิตวาทกรรมเฉกเช่นที่วาทกรรมผลิตสังคม เติน แวนดิจค์ เป็นนักคิดทางด้านสังคมศาสตร์อีกคนหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้ผนวกเอาแนวคิดของเขามาสร้างกรอบวิเคราะห์ แนวคิดของเขาเริ่มต้นว่า วาทกรรมคือปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม ทั้งบทและปริบทต่างมีปฏิสัมพันธ์กัน และการใช้ภาษาคือพฤติกรรมเชิงสังคม ซึ่งหมายความว่าการใช้ภาษาบ่งบอกเจตนาของผู้ใช้ จากแนวคิดของทั้ง 3 คน ผู้วิจัยได้นำตัวแปรหลักๆ อันได้แก่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อุดมการณ์ ภาวะเป็นใหญ่ อัตลักษณ์ ปริบท สหบท ตัวบท ภาคปฏิบัติการวาทกรรม (การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ) ภาคปฏิบัติการเชิงสังคม (ปริบทการเมืองเศรษฐกิจ สังคม) มาใช้กับกรอบวิเคราะห์ 5 กรอบที่ผู้วิจัยได้ประมวลขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์กรณีศึกษาโดยแบ่งเป็น (1) กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับวาทกรรมปฏิบัติงาน (2) กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับวาทกรรมสถาบัน (3) กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับอัตลักษณ์ (4) กรอบวาทกรรมวิเคราะห์กับการเมือง (5) วาทกรรมวิเคราะห์เชิงทฤษฎีวิพากษ์ ผลการวิจัยพบว่ากรอบทั้ง 5 กรอบมีลักษณะเป็นสากลคือสามารถใช้ได้กับกรณีศึกษาไทยซึ่งความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นสิ่งที่ก่อเกิดวาทกรรมและชุดความรู้หรือความจริงในยุคสมัยนี้