Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาการสื่อสาร การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของประชาชนในวิทยุชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดระยอง การวิจัยเป็นการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ คือการศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานี ประชาชนผู้จัดหรือผู้ดำเนินรายการ ผู้นำชุมชน และการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์ความพึงพอใจของประชาชนในฐานะผู้ฟัง ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ประชาชนทั้งสองจังหวัดที่มาร่วมผลิตและดำเนินรายการยังเป็น "ปัญญาชนคนชั้นกลาง" ในระยองเจ้าหน้าที่สถานียังคงดำเนินการผลิตรายการวิทยุชุมชนเป็นส่วนใหญ่ ในทั้งสองจังหวัด ประชาชนระดับรากหญ้ายังไม่มีโอกาสผลิตรายการ ร่วมบริหารรายการวิทยุชุมชน ไม่คุ้นเคยกับแนวคิดของวิทยุชุมชนแต่พอเข้าใจการดำเนินรายการวิทยุแบบประชาธิปไตย 2. ประชาชนในฐานะผู้ฟังมีความพอใจรายการวิทยุชุมชนในระดับหนึ่งและเสนอการปรับปรุงเนื้อหาและรูปแบบของรายการ 3. หากได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 20% ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงฯ กำหนดไว้ ประชาชนอาจมีทางเลือกในระยะแรกคือใช้เวลาร่วมกับสถานีวิทยุของรัฐที่มีอยู่แล้ว และค่อยพัฒนาเป็นเจ้าของสถานีในระยะหลังโดยรวมตัวของคลื่นความถี่ การดำเนินงานในรูปของวิทยุชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการร่วมมือกับกระทรวงหลักๆ ก็จะได้ผลมากเช่นกัน 4. เงินทุนอาจได้มาจากการจัดสรรของ กสช. การรับทุนอุดหนุนจากการไม่แสวงกำไรการหาโฆษณา จากธุรกิจรายย่อยภายในชุมชนนั้นๆ การปันผลกำไรของวิทยุภาคเอกชน ส่วนการเก็บเงินจากสมาชิกคงต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะผู้ฟังยังไม่เห็นประโยชน์เต็มที 5. ปัญหาบุคลากรคือประชาชนระดับรากหญ้าขาดความรู้และทักษะในการออกอากาศและจัดรายการซึ่งอาจแก้ไขได้โดยอาศัยความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุของรัฐและสถาบันการศึกษาให้การฝึกอบรม ความไม่สม่ำเสมอของการมาจัดรายการอาจแก้ไขได้โดยให้ผลัดเวรกันมาจัด โดยผู้นำชุมชนเป็นแกนนำสำคัญ โดยควรมีการทำงานผ่าน อบต. เยาวชนควรได้รับการสนับสนุนให้มาจัดรายการเพราะถือเป็นการศึกษาระยะยาวในเรื่องสื่อมวลชนและสิทธิของประชาชน 6. ปัญหาเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์อาจแก้ไขได้โดยการออกอากาศเป็นภาษาถิ่นซึ่งควรได้รับการสนับสนุน การมีใบผู้ประกาศเป็นสิ่งจำเป็นแต่ควรทดสอบประเมินผลในลักษณะให้ทราบระเบียบกฎเกณฑ์ของการจัดรายการมากกว่าเป็นการทดสอบการอ่านออกเสียง 7. ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีอุปกรณ์อาจแก้ไขได้โดยระยะแรกอาจให้ใช้ร่วมกับสถานีวิทยุของรัฐก่อน หรือในระยะแรกอาจให้ทดลองออกอากาศโดยใช้หอกระจายข่าว หลังจากนั้นอาจจะเช่าอาคารทำสถานีของชาวบ้านเองพร้อมอุปกรณ์เครื่องส่งรุ่นเก่าที่อาจหาเช่าได้ในราคาถูก 8. รายการวิทยุชุมชนที่ประชาชนรากหญ้าสนใจในฐานะจะเป็นผู้จัดรายการคือ รายการเกี่ยวกับปากท้อง รายการศิลปวัฒนธรรม โคลงกลอน ศาสนา รายการทายปัญหา รายการวัยรุ่น รายการทั้งหมดนี้ควรมีเพลงคั่นบ้าง ของรางวัลในการจูงใจให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมควรจะมีบ้างแต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด