Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความต้านทานการแตกหักและตำแหน่งที่เกิดการแตกหักของฟันกรามน้อย ที่มีรูปร่างคลองรากฟันไม่กลมหลังการบูรณะ ด้วยระบบเดือยฟันสำเร็จรูปเสริมเส้นใยที่แตกต่างกัน วิธีดำเนินการวิจัย: นำฟันมนุษย์ซี่กรามน้อยคลองรากฟันเดียวที่มีรูปร่างหน้าตัดไม่กลมจำนวน 50 ซี่ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 10 ซี่ โดยการสุ่ม ตัดส่วนตัวฟันที่ตำแหน่งเหนือรอยต่อเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน 2 มิลลิเมตร ชิ้นตัวอย่างกลุ่มที่ 1-3 เตรียมคลองรากฟันด้วยหัวเจาะไฟบรีเคลียร์ กลุ่มที่ 1 บูรณะด้วยเดือยฟันไฟบรีเคลียร์ กลุ่มที่ 2 ใช้เดือยฟันไฟบรีเคลียร์ร่วมกับเดือยฟันขนาดเล็กรีฟอร์พิน กลุ่มที่ 3 เสริมเดือยฟันไฟบรีเคลียร์ด้วยวัสดุแกนฟันเรซินคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ให้มีรูปร่างเหมือนคลองรากฟัน ชิ้นตัวอย่างกลุ่มที่ 4 และ 5 เตรียมคลองรากฟันด้วยหัวเจาะอีโวลูชัน กลุ่มที่ 4 บูรณะฟันด้วยวิธีการเหมือนกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ 5 บูรณะฟันด้วยแกนเดือยฟันเสริมเส้นใยแก้วอีโวลูชัน ยึดแกนเดือยฟันและครอบฟันโลหะบนฟันทุกซี่ด้วยแวริโอลิงค์ทู นำชิ้นตัวอย่างทั้งหมดทดสอบแรงกดด้วยเครื่องทดสอบสากลชนิดอินสตรอน นำค่าแรงเฉลี่ยที่ทำให้เกิดการแตกหักของฟันกลุ่มที่ 1-3 มาวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดทูกีย์ กลุ่มที่ 4 และ 5 ใช้สถิติทดสอบค่าทีของสติวเดนท์กำหนดระดับนัยสำคัญ p<0.05 และนำกลุ่มการทดสอบทั้งหมดมาวิเคราะห์ตำแหน่งการแตกหักของฟัน ผลการวิจัย: ค่าเฉลี่ยความต้านทานการแตกหักของฟันกลุ่มที่ 1 ต่ำกว่ากลุ่มที่ 2 และ 3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ระหว่างกลุ่มที่ 2 และ 3 มีค่าแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนระหว่างกลุ่มที่ 4 และ 5 ความต้านทานการแตกหักของฟันมีค่าแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) และพบการแตกหักของฟันที่สามารถบูรณะฟันใหม่ได้ในกลุ่มที่ 1-5 ร้อยละ 60, 70, 70, 60 และ 60 ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย: ความต้านทานการแตกหักของฟันที่มีคลองรากไม่กลม ที่บูรณะด้วยเดือยฟันคอมโพสิตเสริมเส้นใยที่ยึดด้วยเรซินซีเมนต์ มีค่าต่ำกว่าการบูรณะด้วยแกนเดือยฟันระบบอื่นๆ แต่การบูรณะด้วยแกนเดือยฟันทุกระบบส่วนใหญ่เกิดการแตกหักของฟันที่สามารถบูรณะใหม่ได้