Abstract:
การศึกษาผลของอิมมูโนโกลบูลินจีต่อการทำงานของนิวโทรฟิลในการต่อต้านเชื้อ S. uberis ที่เป็นสาเหตุเต้านมอักเสบในห้องปฏิบัติการ ทำการเก็บตัวอย่างน้ำนม และซีรั่มของแม่โครีดนมจำนวน 7 ตัวที่ได้การตรวจยืนยันการติดเชื้อ S. uberis เข้าเต้านมจำนวน 8 เต้า และมีเต้านมปกติภายในแม่โคตัวเดียวกันจำนวน 7 เต้า และแม่โครีดนมที่มีเต้านมปกติจำนวน 6 ตัว คัดเลือกเชื้อ S. uberis ที่ได้จากการติดเชื้อธรรมชาติจำนวน 2 สายพันธุ์ที่แยกได้จากเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ (CM isolate) และแบบไม่แสดงอาการ (SCM isolate) เพื่อใช้ในการกระตุ้นการสร้างอิมมูโนโกลบูลินจีในลูกโค 2 กลุ่ม โดยมีกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือเป็นกลุ่มควบคุม ทำการตรวจวัดระดับอิมมูโนโกลบูลินจีที่จำเพาะต่อเชื้อ S. uberis ในตัวอย่างน้ำนม และซีรั่มของแม่โคที่ติดเชื้อธรรมชาติ และแม่โคที่มีเต้านมปกติ และซีรั่มของลูกโคที่ได้รับการกระตุ้น ทำการตรวจสอบการทำงานของนิวโทรฟิลในการเก็บกินเชื้อ และฆ่าเชื้อ S. uberis ภายใต้สภาวะที่มีอิมมูโนโกลบูลินจีในตัวอย่างน้ำนม และซีรั่มดังกล่าว ผลการศึกษาพบแม่โคที่มีการติดเชื้อ S. uberis เข้าเต้านมมีลำดับท้อง วันที่ให้นม และค่าเฉลี่ย log ของจำนวนเซลล์โซมาติกมากกว่าแม่โคที่มีเต้านมปกติ และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างค่าเฉลี่ย log ของจำนวนเซลล์โซมาติกในน้ำนมจากเต้านมที่มีการติดเชื้อกับเต้านมที่ไม่มีการติดเชื้อในแม่โคตัวเดียวกัน (p<0.05) เชื้อ S. uberis สามารถแยกได้จากเต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการได้มากที่สุด ระดับอิมมูโนโกลบูลินจีในน้ำนมของเต้านมที่มีการติดเชื้อ S. uberis เข้าเต้านมมีความแตกต่างกับเต้านมที่ไม่มีการติดเชื้อของแม่โคที่มีเต้านมปกติ (p<0.05) นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของระดับอิมมูโนโกลบูลินจีในซีรั่มของแม่โคทั้ง 2 กลุ่มกับในน้ำนมของเต้านมที่มีการติดเชื้อของแม่โคที่ติดเชื้อ และน้ำนมของแม่โคที่มีเต้านมปกติ (p<0.05) การตรวจด้วยแอนติเจนเคลือบผิวเพลทเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ CM isolate พบระดับอิมมูโนโกลบูลินจีในซีรั่มที่ได้รับการกระตุ้นด้วยเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ CM isolate ของวันที่ 28 และ 35 ของการกระตุ้นมีความแตกต่างกันกับวันที่ยังไม่ได้รับการกระตุ้น (p<0.05) และพบความแตกต่างของระดับอิมมูโนโกลบูลินจีในวันที่ 28 ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นด้วยเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ SCM isolate และในวันที่ 28 และ 35 ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นด้วยเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ CM isolate กับกลุ่มควบคุม การตรวจด้วยแอนติเจนเคลือบผิวเพลทด้วยเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ SCM isolate พบระดับอิมมูโนโกลบูลินจีในวันที่ 14 และ 28 มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นด้วยเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ SCM isolate กับกลุ่มควบคุม ในสภาวะที่มีอิมมูโนโกลบูลินจีในซีรั่มที่ได้รับการกระตุ้นด้วยเชื้อ S. uberis ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถกระตุ้นให้นิวโทรฟิลเก็บกินเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ SCM isolate ได้ แต่ให้ผลไม่ชัดเจนในการส่งเสริมการฆ่าเชื้อ S. uberis สายพันธุ์ CM isolate อย่างไรก็ตามอิมมูโนโกลบูลินจีในซีรั่มของแม่โคที่มีการติดเชื้อเข้าเต้านมสามารถกระตุ้นให้นิวโทรฟิลเก็บกินเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ได้ แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ แต่กลับพบว่าอิมมูโนโกลบูลินจีในน้ำนมของแม่โคที่มีการติดเชื้อเข้าเต้านมสามารถกระตุ้นนิวโทรฟิลในการฆ่าเชื้อ S. uberis ทั้ง 2 สายพันธุ์