Abstract:
โรคปริทันต์อักเสบเป็นโรคที่มีแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุหลัก และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเกิดและดำเนินโรคปริทันต์อักเสบ ผลของการสูบบุหรี่ต่อความชุกของแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ในการศึกษาที่ผ่านมายังมีความขัดแย้งกัน วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อตรวจหาความชุกของแบคทีเรียก่อโรคปริทันต์ 3 ชนิด ได้แก่ Porphyromonas gingivalis, Aggregatibacter actinomycetemcomitans และ Tannerella forsythia ด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรสในคราบจุลินทรีย์ใต้เหงือกของกลุ่มพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (Electrical Generating Authority of Thailand, EGAT) เพศชายจำนวน 338 คน จำแนกตามสถานะการสูบบุหรี่เป็น กลุ่มผู้สูบบุหรี่ 80 คน เคยสูบบุหรี่ 125 คน และไม่สูบบุหรี่ 133 คน ผลการศึกษาพบความชุกของเชื้อทั้ง 3 ชนิดในกลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นร้อยละ 87.5, 23.8 และ 76.3 กลุ่มผู้เคยสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 72.8, 18.4 และ 76.8 กลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่เป็นร้อยละ 70.7, 21.8 และ 79.7 ตามลำดับ จากสถิติทดสอบไคสแควร์พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความชุกของ P. gingivalis ในกลุ่มที่มีสถานะการสูบบุหรี่ที่ต่างกัน และใช้สถิติวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติกหาความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อการตรวจพบ P. gingivalis เมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นคือ สภาวะโรคปริทันต์อักเสบ พบว่าสถานะการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการตรวจพบ P. gingivalis คือกลุ่มผู้สูบบุหรี่มีโอกาสพบ P. gingivalis ได้มากกว่ากลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่เป็น 2.35 เท่า (95% CI: 1.08-5.12) การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์ต่อการตรวจพบ P. gingivalis โดยพบความชุกของ P. gingivalis ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่มีมากกว่ากลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่