Abstract:
การจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ เป็นงานใหญ่มีขอบข่ายการปฏิบัติงานทั่วประเทศ และใช้งบประมาณในการดำเนินการกว่าร้อยล้านบาท ในปี พ.ศ.2523 สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้นำเอาระเบียบวิธีการเลือกตัวอย่างมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลบางรายการเกี่ยวประชากรและเคหะ กล่าวคือ ครัวเรือนที่อยู่ในเขตเทศบาลทำการแจงนับข้อถามรายละเอียดเกี่ยวประชากรทุกคนในครัวเรือและเกี่ยวกับเคหะทุกครัวเรือน ส่วนท้องที่นอกเขตเทศบาลทั้งหมดและกรุงเทพมหานคร ทำการแจงนับข้อถามหลักด้านประชากรจากทุกคนในทุกครัวเรือน แล้วจึงเลือกครัวเรือนตัวอย่างประมาณร้อยละ 20 เพื่อแจงนับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะต่างๆ ของประชากรและข้อถามเคหะ การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาหาขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมกับระดับความถูกต้องและเชื่อถือได้ที่ต้องการของตัวแปรที่นำมาศึกษา และประมาณค่าใช้จ่ายตามขนาดตัวอย่างที่คำนวณได้
การคำนวณขนาดตัวอย่างของตัวแปรต่างๆ ใช้วิธีการของการเลือกตัวอย่างสุ่มอย่างง่าย โดยกำหนดของความผิดพลาดในการประมาณค่าพารามิเตอร์ไม่เกินร้อยละ +-5 ด้วยความน่าจะเป็น .95 ตัวแปรที่นำมาศึกษามีทั้งตัวแปรด้านประชากรและตัวแปรด้านเคหะ ซึ่งมีลักษณะเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลตัวอย่างประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนครัวเรือนนอกเขตเทศบาลทั้งหมดและกรุงเทพมหานคร
จากขนาดตัวอย่างที่คำนวณได้ในแต่ละเรื่องนำมาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มของข้อถามที่จะใช้สัดส่วนตัวอย่าง 5 % ได้แก่ ข้อมูลด้านประชากรเรื่อง ศาสนา สถานที่เกิด ขั้นที่กำลังเรียน การอ่านออกเขียนได้ อายุสมรครั้งแรก จำนวนบุตรเกิดรอด การคุมกำเนิด และข้อมูลเคหะเรื่อง ลักษณะและประเภทของที่อยู่อาศัย การใช้ที่อยู่อาศัยประกอบธุรกิจ การครอบครองที่อยู่อาศัย จำนวนห้องนอน แหล่งที่มาของน้ำดื่ม น้ำใช้ การใช้ส้วม และเครื่องใช้ประเภทถาวรที่มีไว้ในครอบครอง
2. กลุ่มของข้อถามที่จะใช้สัดส่วนตัวอย่าง 10% ได้แก่ ข้อมูลด้านประชากร เรื่องอาชีพในรอบ 7 วันก่อนวันสำมะโน และข้อมูลเคหะเรื่อง การใช้แสงสว่าง
3. กลุ่มของข้อถามที่จะใช้สัดส่วนตัวอย่าง 20% ได้แก่ ข้อมูลด้านประชากร เรื่อง การย้ายถิ่น และข้อมูลเคหะเรื่อง สถานที่ประกอบอาหารการใช้เชื้อเพลิงในการหุงต้ม
จากข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณด้านการปฏิบัติงานสนาม ด้านวัสดุที่ใช้ในงานสนามและด้านการประมวลผล ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. คือ งบประมาณที่ใช้ในท้องที่เขตเทศบาลทั้งหมด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
2. คือ งบประมาณที่ใช้ในท้องที่นอกเขตเทศบาลทั้งหมด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งแจงนับครัวเรือนเพียงร้อยละ 80
3. คือ งบประมาณที่ใช้ในท้องที่เดียวกับส่วนที่ 2 แต่แจงนับครัวเรือนเพียงร้อยละ 20
งบประมาณในส่วนที่ 1 และ 2 จะเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ซึ่งไม่แปรตามขนาดตัวอย่าง แต่งบประมาณในส่วนที่ 3 จากผลการวิเคราะห์สามารถลดได้ร้อยละ 25.45 เมื่อใช้ขนาดตัวอย่างที่คำนวณได้ และลดได้ร้อยละ 6.36 เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งโครงการ