Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตอบสนองของนโยบายการเงินเพื่อจัดการปัญหาฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ที่มีลักษณะต่างๆกัน โดยจะแยกพิจารณาฟองสบู่ออกเป็น 3 ประเภท 1) ฟองสบู่ชนิดคาดการณ์สมบูรณ์ (Rational Bubble) 2) ฟองสบู่ชนิดที่เติบโตตามมูลค่าพื้นฐาน (Intrinsic Bubble) 3) ฟองสบู่ที่เติบโตจากภายนอก ในส่วนแรกจะนำเสนอทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะของฟองสบู่ชนิดต่างๆ ข้อจำกัดในการเติบโต และวิธีหยุดยั้งการเติบโตของฟองสบู่ ส่วนถัดไปได้ทำการศึกษาผลกระทบของราคาสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปต่อตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญผ่านแบบจำลองกรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting Rule) ที่ได้ผนวกราคาสินทรัพย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศสูงขึ้นผ่านความมั่งคั่ง (Wealth) ของประชาชน และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาถัดไป จากการทำการประมาณโดยแบบจำลอง (Simulation)
พบว่าผู้การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อฟองสบู่จะมากน้อยเพียงใดอยู่กับลักษณะการก่อตัวของฟองสบู่รวมถึงแหล่งที่มาของปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อเศรษฐกิจ (Shock) ในกรณีที่ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเกิดจากราคาสินทรัพย์ (Asset price shock) พบว่าธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายตอบโต้ต่อฟองสบู่ชนิดคาดการณ์สมบูรณ์มากที่สุด แต่ถ้าผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเกิดจากด้านการบริโภคมวลรวม (Aggregate demand shock) พบว่าธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายตอบโต้ต่อฟองสบู่ชนิด Intrinsic Bubble มากที่สุด และเมื่อดูไปถึงขอบเขตของนโยบาย (Policy frontier) ฟองสบู่ชนิดคาดการณ์สมบูรณ์อาจจะสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุด เนื่องจากฟองสบู่สามารถคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจนานกว่าฟองสบู่ชนิดอื่นๆ ดังนั้นผู้วางนโยบายจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของลักษณะของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจเนื่องจากฟองสบู่ที่ต่างชนิดกันจะสร้างความแตกต่างในการดำเนินนโยบายตอบโต้ รวมถึงในแหล่งที่มาของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ (Shock) ก็ยังสามารถสร้างความแตกต่างในการดำเนินนโยบายได้อีกทางหนึ่งด้วย