Abstract:
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 กำหนดให้ ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม
และการสนับสนุนในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือ
การบริการสาธารณะอื่น โดยการจะส่งเสริมหรือสนับสนุนการบริการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ต้องมีการศึกษาวิจัยถึงลักษณะ
ทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบของสังคมที่มีอยู่ โดยการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะ
ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ประชากร และสภาพการอยู่อาศัย ตลอดจนลักษณะสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก
ชุมชนของผู้สูงอายุในชนบท ภาคกลาง เพื่อนำมาสู่การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชนเพื่อการอยู่อาศัยที่
เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในชนบทให้เอื้อต่อการเข้าไปใช้ประโยชน์ การสัญจร การสันทนาการ สำหรับผู้สูงอายุและ
ผู้ใช้งานทุกสถานะ ทุกวัย จากกระบวนการวิจัยได้คัดเลือกพื้นที่ศึกษา คือ หมู่บ้านเขาน้อย ตำบลท่าตะโก อำเภอท่าตะโก
จังหวัดนครสวรรค์ โดยกลุ่มประชากรตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 137 คน
ผลการศึกษา พบว่า สาธารณูปโภค/สิ่งแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุมาก คือ สวนสาธารณะ/สวนสุขภาพ
สำหรับการพักผ่อนออกกำลังกาย และวัด/สถานปฏิบัติกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในด้านการใช้พื้นที่ สถานที่ที่
ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไปมากที่สุด ได้แก่ ศาสนสถาน สวนสาธารณะ ศาลา/ป้ายรถโดยสาร ลานกีฬา/สถานที่ออก
กำลังกาย และสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชนภาคเอกชนที่ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไปมากที่สุด ได้แก่ ร้านขายของชำ/
ร้านสะดวกซื้อ ตลาดละแวกหมู่บ้านซึ่งการเดินทางภายในชุมชนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้การเดินเท้าเป็นหลัก และสามารถ
เดินทางด้วยตัวเองได้ แต่การเดินทางไปยังภายนอกชุมชนผู้สูงอายุส่วนใหญ่ใช้จักรยานยนต์เป็นหลักและผู้สูงอายุที่มีอายุ
มากต้องการได้รับการช่วยเหลือในการเดินทาง การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชนเพื่อการอยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในชนบทเพื่อให้ผู้สูงอายุ
สามารถออกมาใช้พื้นที่สาธารณะภายนอกที่อยู่อาศัยนั้นต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับทางเดินและทางสัญจรมากที่สุด
เนื่องจากทางเดินและทางสัญจรที่มีความสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีความปลอดภัยนั้น เป็นการเอื้ออำนวย
ให้ผู้สูงอายุอยากที่จะออกมาทำกิจกรรมมากขึ้น โดยแนวทางในการปรับปรุงทางเดินและทางสัญจร คือ ถนนต้องไม่มีสิ่ง
กีดขวาง มีการให้ร่มเงาทางเดิน มีแสงสว่างที่ทั่วถึงเพื่อความปลอดภัย และมีที่นั่งพักเป็นระยะให้ผู้สูงอายุ และถ้าทางเดิน
มีระดับพื้นที่ต่างกันควรทำทางลาด ส่วนการปรับปรุงให้พื้นที่ทางศาสนาและพื้นที่ราชการเป็นศูนย์กลางชุมชนนั้นมี
ความสำคัญรองลงมาโดยแนวทางในการปรับปรุง คือ ควรมีการทำทางลาด ห้องน้ำ และที่จอดรถให้กับผู้สูงอายุเพื่อให้
ผู้สูงอายุสามารถเข้าไปทำกิจกรรมทางศาสนาและติดต่อกับหน่วยงานราชการได้สะดวก โดยงานวิจัยนี้สามารถนำไปสู่
การใช้ต่อยอดในการศึกษาเรื่องการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชนสำหรับผู้สูงอายุในเมือง ซึ่งลักษณะของ
ผู้สูงอายุในชนบทกับเมืองมีลักษณะที่แตกต่างกันในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การอยู่อาศัยและลักษณะทางกายภาพของชุมชน