Abstract:
การศึกษาเรื่อง ความเชื่อที่ถูกทำให้เป็นสินค้า : ศึกษากรณีเบี้ยแก้วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ผู้วิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆภายในชุมชนละแวกวัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี และกลุ่มผู้ศรัทธาเบี้ยแก้วัดกลางบางแก้วบริเวณกุฏิหลวงปู่เจือ ปิยสีโล อันเป็นพื้นที่ที่มีการซื้อขายเบี้ยแก้ เพื่อมุ่งศึกษาความเชื่อของเบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้วว่าเป็นอย่างไร โดยศึกษาให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างบริบทสังคมไทยที่ส่งอิทธิพลต่อการสร้างและการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเบี้ยแก้ และความเชื่อเบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้วถูกทำให้เป็นสินค้าได้อย่างไร
จากการศึกษาพบว่า ความเชื่อในอิทธิคุณของเบี้ยแก้ วัดกลางบางแก้ว มีลักษณะแตกต่างกันตามยุคสมัยซึ่งมีความสอดรับกับโครงสร้างและบริบททางสังคมไทยในขณะนั้น ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าความเชื่อเบี้ยแก้วัดกลางบางแก้วเป็นทั้งความต้องการของผู้ศรัทธาและเป็นภาพสะท้อนบริบททางสังคมในช่วงเวลานั้น ในกระแสโลกาภิวัตน์นั้น ความเชื่อเบี้ยแก้ของวัดกลางบางแก้วซึ่งผ่านการสร้างความหมายและได้รับความเชื่อความศรัทธามาอย่างยาวนานจึงถูกนำมาแปรเป็น “สินค้า” เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนภายใต้ความกดดันของโครงสร้างและบริบททางสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม โดยมีลักษณะของกระบวนการทำให้ความเชื่อเบี้ยแก้วัดกลางบางแก้วกลายเป็นสินค้า ที่แฝงอยู่ในกระบวนการผลิต กระบวนการขาย และกระบวนการสืบทอด