Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ประการ คือ หนึ่ง เพื่อศึกษาว่าปฏิบัติการอารยะขัดขืนของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศลมีลักษณะอย่างไร และสะท้อนแนวคิดอารยะขัดขืนอย่างไร สอง ปฏิบัติการอารยะขัดขืนได้ส่งผลสะเทือนต่อกระบวนการทางนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศป่าทำอย่างไร ผลการศึกษา พบว่า ปฏิบัติการอารยะขัดขืนของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศลมีลักษณะเป็นการกระทำทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้วงขอบสันติวิธี โดยไปละเมิดต่อกฎหมายบางประการ ดำเนินการอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ และชาวบ้านก็ยอมรับโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังพบว่าการแสดงออกซึ่งการขัดขืน/ไม่เชื่อฟังเริ่มต้นด้วยการฉีกตัวออกจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเดิมก่อนที่จะแสดงออกผ่านการละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้รากเหง้าแนวคิดอารยะขัดขืนมีสาเหตุมาจากโครงการเขื่อนราษีไศลได้ไปกระทบต่อวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของชุมชน การที่ชาวบ้านได้รับอิทธิพลจากนักพัฒนาเอกชน และได้รับแรงบีบคั้นจากบริบททางสังคม/การเมืองในขณะนั้น ส่วนการศึกษาเรื่องผลสะเทือนของปฏิบัติการอารยะขัดขืน พบว่า ในระยะแรกเริ่ม (พ.ศ.2543) ปฏิบัติการได้ส่งผลสะเทือนโดยการเปิดช่องทางให้ขบวนการสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองปกติและมีอำนาจในการต่อรองทางการเมือง ส่งผลให้รัฐยอมตามข้อเรียกร้องและมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2543 ออกมา แต่เนื้อหาสาระเชิงนโยบายกลับยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทันที ส่วนผลสะเทือนในระยะถัดมา (พ.ศ.2544-2553) ได้ส่งผลต่อการยกระดับข้อเรียกร้องของขบวนการ แต่มติคณะรัฐมนตรีข้างต้นกลับกลายเป็นข้อผูกมัดที่ทำให้การเรียกร้องต้องประสพความล้มเหลว ต่อมาขบวนการจึงสามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อระบบราชการได้ โดยพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระเชิงนโยบายเพื่อให้รัฐสนับสนุนนโยบายทางเลือกของชุมชน