Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ของผู้ที่มีความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้า โดยศึกษาแบบตัดขวางในผู้ป่วยจากคณะทันต-แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 463 คน เป็นเพศชาย:หญิงเท่ากับ 1:1.4 อายุ 15-60 ปี เฉลี่ย 32.06±12.1 ปี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาการปวดจากความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกรร้อยละ 10 กลุ่มอาการปวดจากความผิดปกติในปากร้อยละ 68 และกลุ่มที่ไม่มีความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้าร้อยละ 22 เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่มีคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ลักษณะความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้า ภาวะสุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากโดยให้ตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง พบว่าความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้าส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Kruskal-Wallis test, P<0.0001) โดยกลุ่มความผิดปกติบริเวณขมับ-ขากรรไกรได้รับผลกระทบเรื่องความลำบากในการกินอาหาร และความรู้สึกกังวลกับลักษณะของตัวเองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 57.1 ส่วนกลุ่มความผิดปกติจากอาการปวดในปากได้รับผลกระทบเรื่องปัญหาระหว่างการกินอาหารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42 ผลจากการศึกษาครั้งนี้แสดงว่าความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้าส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากอย่างชัดเจน และสะท้อนทิศทางความต้องการการรักษาของผู้ที่มีความเจ็บปวดช่องปาก-ใบหน้าประเภทต่าง ๆ