Abstract:
ศึกษาลักษณะ บทบาทและความสำคัญ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้แทนชุมชนมีบทบาทในกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน และมาตรการในการเยียวยาและแก้ไขเด็กและเยาวชน โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการสังเกต เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเด็กและเยาวชนกระทำผิด ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 ราย และผู้แทนชุมชนที่เคยเข้าร่วมกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน จำนวน 6 ราย ในคดีมียาเสพติดประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันลักลอบเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุรา ผลการวิจัยพบว่า
ลักษณะของผู้แทนชุมชนมีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีความสำคัญทั้งในระหว่างการประชุมฯ และภายหลังการประชุมฯ เสร็จสิ้น โดยผู้แทนชุมชนมีบทบาทในการพูดตักเตือน ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ทั้งเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดรวมถึงผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีบทบาทให้ความช่วยเหลือ หาข้อตกลง วางมาตรการแก้ไขเด็กและเยาวชนร่วมกับคณะสหวิชาชีพ และติดตามสอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนภายหลังกลับคืนสู่ชุมชนด้วย ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้แทนชุมชนมีบทบาทในการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน ได้แก่ ปัจจัยภูมิหลัง การมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ความต้องการมีส่วนร่วม และการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ดังนั้นในกระบวนการประชุมกลุ่มครอบครัวและชุมชน จึงควรกำหนดบทบาทของผู้แทนชุมชนให้มีความชัดเจน และเชิญผู้แทนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเข้าร่วมการประชุมด้วย