Abstract:
งานวิจัยนี้เพื่อศึกษาผลกระทบของวินัยตลาดต่อแรงจูงใจในการดำรงเงินกองทุนส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยการกำกับดูแลจากวินัยตลาดมาจาก 3 ทาง ได้แก่ ผู้ฝากเงิน นักลงทุนในหุ้นกู้ และนักลงทุนในหุ้น การศึกษาใช้ข้อมูลทุติยภูมิรายไตรมาสของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 12 แห่ง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2544 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 วิธีที่ใช้ในการประมาณค่า คือ วิธี Generalized Least Square (GLS) แบบ Fixed Effect Model ผลการศึกษาพบว่า สัดส่วนหุ้นกู้ต่อหนี้สินทั้งหมดซึ่งเป็นตัวแทนวินัยตลาดของนักลงทุนในหุ้นกู้ และค่า Tobin’s q ซึ่งเป็นตัวแทนวินัยตลาดของนักลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์ มีอิทธิพลในทิศทางบวกต่อการดำรงอัตราเงินกองทุนส่วนเกิน สำหรับวินัยตลาดของผู้ฝากเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย แทนด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับตั๋วเงินคลัง และสัดส่วนเงินฝากระยะสั้นต่อเงินฝากรวมไม่มีอิทธิพลต่อการดำรงอัตราเงินกองทุนส่วนเกิน ธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราเงินกองทุนเข้าสู่ระดับเป้าหมายประมาณร้อยละ 30 ของความแตกต่างระหว่างอัตราเงินกองทุนที่มีอยู่จริงในช่วงเวลาก่อนหน้ากับอัตราเงินกองทุนในระดับเป้าหมาย อันเนื่องมาจากต้นทุนในการปรับระดับอัตราเงินกองทุน และยังพบว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดำรงอัตราเงินกองทุนส่วนเกินน้อยกว่าธนาคารขนาดเล็ก สำหรับสินเชื่อและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลในทิศทางลบกับอัตราเงินกองทุนส่วนเกิน การบังคับใช้หลักเกณฑ์ Basel II มีอิทธิพลในการเพิ่มอัตราเงินกองทุนส่วนเกิน