Abstract:
ศึกษาผลการเสริมผงน้ำดีสุกรต่อการย่อยได้ของไขมันและโปรตีน การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของการย่อยของไขมันในทางเดินอาหาร และสมรรถภาพการเจริญเติบโตของไก่เนื้อที่ได้รับอาหารไขมันสูง โดยใช้ไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ เพศผู้ อายุ 1 วัน จำนวน 1,110 ตัว แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ไก่ได้รับอาหารพื้นฐานที่มีข้าวโพดและกากถั่วเหลืองเป็นหลัก ร่วมกับน้ำมันปาล์มดิบเป็นระยะเวลา 37 วัน กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารพื้นฐานที่มีน้ำมันปาล์ม 3% กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารพื้นฐานที่มีน้ำมันปาล์ม 6% (อาหารไขมันสูง) กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2 และเสริมเลซิติน 0.50% กลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ได้รับอาหารเดียวกับกลุ่มที่ 2 และเสริมผงน้ำดีสุกร 0.125%, 0.25% และ 0.50% ตามลำดับ โดยการเสริมเลซิตินและผงน้ำดีสุกรสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เก็บข้อมูลน้ำหนักตัวและปริมาณอาหารที่กินในวันที่ 4, 7, 14 และ 21 ของการทดลอง สุ่มไก่กลุ่มละ 6 ตัว เก็บตัวอย่าง portal blood เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของกรดไขมัน เก็บตับอ่อนเพื่อวัดระดับกิจกรรมของเอนไซม์ไลเปส เก็บตัวอย่างน้ำดีและอาหารที่ย่อยในลำไส้เล็กส่วนกลาง เพื่อวัดความเข้มข้นของกรดน้ำดีรวมและเก็บอาหารที่ย่อยในลำไส้เล็กส่วนปลาย เพื่อหาค่าการย่อยได้ของไขมันและโปรตีน จากการศึกษาพบว่า กิจกรรมของเอนไซม์ไลเปสของไก่กลุ่มที่ 2 ต่ำกว่ากลุ่มที่ 1 ทุกช่วง (P < 0.05) ในขณะที่กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 มีระดับสูงกว่ากลุ่มที่ 2 ทั้งในวันที่ 4 และ 7 เมื่อไก่เนื้ออายุ 14 วัน กลุ่มที่ 4 และ 5 ยังคงมีกิจกรรมของเอนไซม์ไลเปสสูงกว่ากลุ่มอื่น สอดคล้องกับความเข้มข้นของกรดน้ำดีรวมในน้ำดีของไก่ ในวันที่ 21 ทางเดินอาหารของไก่เริ่มพัฒนาเต็มที่ ผงน้ำดีสุกรที่ระดับ 0.125% ยังคงมีผลให้ความเข้มข้นของกรดน้ำดีรวมในน้ำดี และกิจกรรมของเอนไซม์ไลเปสของไก่กลุ่มที่ 4 มีค่าสูงที่สุด (P < 0.05) ซึ่งเมื่อพิจารณาการย่อยได้ของไขมันและโปรตีนจะพบว่า ในช่วง 4 และ 7 วันแรก กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 มีค่าการย่อยได้ของไขมันและโปรตีนสูงกว่ากลุ่มที่ 5 และ 6 (P < 0.05)
อย่างไรก็ตามในวันที่ 14 และ 21 การย่อยได้ของไขมันและโปรตีนของไก่กลุ่มที่ 2 ลดลงชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น (P < 0.05) ในขณะที่กลุ่มที่ 4 และ 5 มีค่าการย่อยได้ของโปรตีนสูงกว่ากลุ่มที่ 2 และ 3 และการย่อยได้ของไขมันสูงกว่าทุกกลุ่มทดลอง (P < 0.05) จากการ วิเคราะห์องค์ประกอบของกรดไขมันในเลือดพบว่า ในวันที่ 4 กลุ่มที่ได้รับน้ำดี 0.125% และ 0.25% มีกรดไขมันอิ่มตัวรวมใน portal blood สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ (P < 0.05) แต่ในวันที่ 7, 14 และ 21 ของการทดลอง อัตราส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่อกรดไขมันอิ่มตัวของทุกกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกัน (P > 0.05) อย่างไรก็ตามผงน้ำดีสุกรไม่มีผลต่อปริมาณการกินอาหาร (P>0.05) สมรรถภาพการเจริญเติบโตในช่วง 37 วันของไก่ กลุ่มที่ 1 และ 2 ไม่แตกต่างกับกลุ่มอื่น (P > 0.05) อย่างไรก็ตามจากผลการทดลองครั้งนี้พบว่า การเสริมผงน้ำดีสุกรที่ระดับ 0.125% ในอาหารไขมันสูงมีผลช่วยปรับปรุงอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักในไก่เนื้อระยะเล็กให้ดีขึ้น (P < 0.05) จากผลการทดลองสรุปได้ว่า การเสริมผงน้ำดีสุกรที่ระดับ 0.125% ในอาหารไขมันสูงที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นแหล่งไขมัน ช่วยทำให้กิจกรรมของเอนไซม์ไลเปสจากตับอ่อนสูงขึ้น เพิ่มความเข้มข้นของกรดน้ำดีรวมในน้ำดี ส่งผลให้การย่อยได้ของไขมันและโปรตีนสูงขึ้น การดูดซึมกรดไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น ทำให้ไก่เนื้อระยะเล็กมีอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไก่ที่ได้รับอาหารปกติ