Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาความหลากหลายและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสนใจทางด้านความคิดของศาสนาอิสลาม ชาติพันธุ์มลายู ความรุนแรงและสันติภาพ 2.เพื่อศึกษาพลวัตทางด้านการเมืองแห่งอัตลักษณ์และปฎิบัติการทางด้านวาทกรรม เรื่องทางด้านศาสนา ชาติพันธุ์มลายู ความรุนแรงและสันติภาพ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In – depth Interview) การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Focus Group) และเทคนิควิธีหลากหลายประกอบกันของการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง โดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากกลุ่มสำนักคิดมุสลิมหลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เรียกว่า คณะเก่า คณะใหม่ ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ความหลากหลายทางด้านความคิดในมิติทางด้านศาสนาและแนวทางปฎิบัติ ไม่ได้เป็นปัญหานำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งข้อค้นพบที่สำคัญพื้นที่ก็คือ หลายชุมชนมีความแตกแยกจริงแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ปัจจุบันความขัดแย้งทางด้านความคิดของกลุ่ม คณะเก่า คณะใหม่ ได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ก่อการไม่สงบและนโยบายบางส่วนของรัฐที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตของชุมชนและนำไปสู่การต่อต้าน ทำให้ผู้นำของกลุ่ม “คณะเก่า” และ “คณะใหม่” ได้หันมาร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่ตระหนักร่วมกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็คือจะรักษาอัตลักษณ์มลายูมุสลิมและการดำเนินชีวิตแบบวิถีอิสลาม