Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย - สหรัฐอเมริกา ในบริบทที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจากอินโดจีน เพื่อตอบคำถามว่า ประเทศไทยมีบทบาทอย่างไรในยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียอาคเนย์ ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากการยุติสงครามเวียดนาม จนถึงการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากประเทศไทย ในปี 2519 และสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจ ประสบปัญหาอย่างไรในการที่จะให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศตามที่ตนต้องการ ท่ามกลางพลวัตที่ผันเปลี่ยนของการเมืองไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2516 – 2519 วิทยานิพนธ์นี้ได้อภิปรายถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อันได้แก่ ความแตกแยกขัดแย้งในหมู่ผู้นำ และการก่อตัวของกลุ่มพลังสังคมต่างๆ การมีรัฐบาลพลเรือนพระราชทาน (รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, 14 ตุลาคม 2516 – 14 กุมภาพันธ์ 2518) และรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง (รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช, 15 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม 2518, รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช, 14 มีนาคม 2518 – 12 มกราคม 2519 และรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช, 20 เมษายน – 6 ตุลาคม 2519) รวมทั้งการทำงาน และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังสังคมต่าง ๆ ในช่วงการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน พ.ศ. 2516 -2519 ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ประสบความล้มเหลวในการดำเนินการ จนกระทั่งต้องถอนกองกำลัง และฐานทัพทั้งหมดออกไปจากประเทศไทย ในปี 2519