Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาถึงลักษณะและรูปแบบของการจัดสวัสดิการสังคมโดยเน้นในเรื่องสวัสดิการด้านการประกันสุขภาพที่จัดให้มีโดยรัฐ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในแง่แนวคิด วิวัฒนาการ และโครงสร้าง โดยจะมุ่งศึกษาถึงลักษณะของการจัดเก็บเงินหรือภาษีอากรเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการการจัดสวัสดิการ หรือที่เรียกว่า "ภาษีสวัสดิการสังคม" เป็นหลัก และประการที่สอง ศึกษาลักษณะโครงสร้างของภาษีสวัสดิการสังคมที่มีการจัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน และเปรียบเทียบการจัดเก็บภาษีสวัสดิการสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดเก็บเงินสมทบตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กับภาษีสวัสดิการสังคมที่มีการจัดเก็บอยู่ในประเทศแคนาดา และประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหาและนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากการศึกษา พบว่าการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 นั้นขาดความเป็นธรรมตามหลักทฤษฎีของการจัดเก็บภาษีอากรที่ดี เนื่องจากโครงสร้างการจัดเก็บนั้นมิได้เป็นการแบ่งภาระภาษีตามหลักความสามารถในการเสียภาษี อีกทั้งระบบการจัดเก็บเงินประกันสมทบนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบภาษีสวัสดิการสังคมที่จัดเก็บอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและภาษีสุขภาพของประเทศแคนาดา ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงระบบและโครงสร้างการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม แก้ไขโครงสร้างของการจัดเก็บให้มีความเป็นธรรม ทั้งในส่วนของฐานการจัดเก็บ อัตราการจัดเก็บ และการคำนวณเงินสมทบ ในอันที่จะสามารถทำให้ระบบประกันสังคมสามารถระดมทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆแก่ประชาชนผู้อยู่ในระบบได้อย่างเต็มที่