Abstract:
เมื่อเป็นชุมชนศูนย์กลางที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่พื้นที่โดยรอบ โดยเป็นที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามชุมชนเมืองแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือความสำคัญขึ้นอยู่กับหน้าที่ ขอบเขตการให้บริการ และระดับการพัฒนาที่เป็นมาในอดีตซึ่งสามารถนำมาจัดลำดับความสำคัญ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่และการพัฒนาของชุมชนในแต่ละระดับภูมิภาคได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีความมุงหมายที่จะจัดลำดับความสำคัญของชุมชนเมืองภาคใต้ ชุมชนเมืองในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะชุมชนในระดับเทศบาล จำนวน 25 แห่ง ประกอบด้วยเทศบาลเมือง 17 แห่ง และเทศบาลตำบล 8 แห่ง โดยพิจารณาจากตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้าน กายภาพ เศรษฐกิจ ประชากรและสังคม จำนวน 35 ตัวแปร การวิเคราะห์ได้นำวิธีการทางสถิติที่เรียกว่าวิธีวิเคราะห์ตัวประกอบ (Factor Analysis Method) มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์พื้นที่หาข้อสรุปและเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ จากการศึกษาพบว่า ชุมชนเมืองในภาคใต้สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 กลุ่มตามลำดับความสำคัญคือ ชุมชนระดับที่ 1 ได้แก่ เทศบาลเมืองหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญสูงในทุกด้าน อาทิเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริหาร อุตสาหกรรม การศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคมขนส่งของภาค ชุมชนระดับที่ 2 ได้แก่ เทศบาลเมืองภูเก็ต เทศบาลเมืองสุราษฏร์ธานี เทศบาลเมืองสงขลา เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช เทศบาลเมืองยะลา เทศบาลเมืองตรัง เป็นชุมชนที่มีความสำคัญในระดับอนุภาค ชุมชนระดับที่ 3 ได้แก่ เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลเมืองชุมพร เทศบาลเมืองนราธิวาส เทศบาลเมืองพัทลุง เทศบาลตำบลปากแพรก เทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก และเทศบาลเมืองระนอง เป็นชุมชนที่มีความสำคัญในระดับจังหวัดและอำเภอ ชุมชนระดับที่ 4 ได้แก่ เทศบาลเมืองกระบี่ เทศบาลตำบลเบตง เทศบาลเมืองปากพนัง เทศบาลเมืองตะกั่วป่า เทศบาลเมืองสตูล เทศบาลตำบลกันตัง เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลเมืองบ้านนาสาร เทศบาลตำบลหลังสวน เทศบาลตำบลสะเดา และเทศบาลตำบลตะลุบัน เป็นศูนย์กลางชุมชนพื้นที่ชนบทโดยรอบ จากการวิเคราะห์พบว่า ตัวแปรที่มีความสำคัญต่อการจัดลำดับความสำคัญของชุมชนเมืองภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นตัวแปรด้านเศรษฐกิจ อาทิ จำนวนโรงงานอุตสาหกรรม จำนวนโรงแรม จำนวนเงินทุนธุรกิจด้านนิติบุคคล จำนวนร้านค้า จำนวนธนาคาร รองลงมาจะเป็นตัวแปรด้านกายภาพ และตัวแปรด้านสังคม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเรื่องเขตอิทธิพลของศูนย์กลางชุมชน ซึ่งพบว่า เทศบาลที่เป็นศูนย์กลางชุมชนคือ เทศบาลในลำดับที่ 1 และ 2 โดยมีเขตอิทธิพลครอบคลุมเทศบาลใกล้เคียงดังนี้ ศูนย์กลางชุมชนสุราษฎร์ธานี มีเขตอิทธิพลครอบคลุม เทศบาลตำบลบ้านนาสาร เทศบาลเมืองชุมพร และเทศบาลตำบลหลังสวน ศูนย์กลางชุมชนภูเก็ต มีเขตอิทธิพลครอบคลุม เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลเมืองตะกั่วป่า เทศบาลเมืองกระบี่ และเทศบาลเมืองระนอง ศูนย์กลางชุมชนนครศรีธรรมราช มีเขตอิทธิพล เทศบาลเมืองปากพนัง และเทศบาลตำบลปากแพรก ศูนย์กลางชุมชนตรัง มีเขตอิทธิพลครอบคลุม เทศบาลตำบลกันตัง ศูนย์กลางชุมชนสงขลา – หาดใหญ่ มีเขตอิทธิพลครอบคลุม เทศบาลเมืองพัทลุง เทศบาลเมืองสตูล และเทศบาลเมืองสะเดา ศูนย์กลางชุมชนยะลา มีเขตอิทธิพลครอบคลุม เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลตำบลตะลุบัน เทศบาลเมืองนราธิวาส เทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก และเทศบาลตำบลเบตง จากการนำเขตอิทธิพลศูนย์กลางชุมชนและพื้นที่ใต้เขตอิทธิพลมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเมือง สามารถแบ่งกลุ่มตามหลักความสัมพันธ์ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคใต้ตอนบน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ - กลุ่มชุมพร – หลังสวน – สุราษฎร์ธานี บ้านนาสาร – กลุ่มระนอง – พังงา – ตะกั่วป่า – กระบี่ – ภูเก็ต กลุ่มภาคใต้ตอนล่าง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ - กลุ่มสงขลา – หาดใหญ่- สะเดา – พัทลุง – สตูล – กลุ่มนครศรีธรรมราช – ปากพนัง – ปากแพรก – กลุ่มตรัง – กันตัง – กลุ่มปัตตานี – ตะลุบัน – ยะลา - -เบตง – นราธิวาส – สุไหงโกลก จากการศึกษาเพื่อหาขนาดของศูนย์กลางชุมชนที่เหมาะสมของภาค พบว่าเทศบาลในระดับที่ 1 และ 2 มีขนาดประชากรและค่าการพัฒนาใกล้เคียงกับชุมชนที่มีนาดที่เหมาะสม (Optimum Size City) ส่วนเทศบาลลำดับที่ 3 และ 4 มีขนาดประชากรและค่าการพัฒนาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และในการพิจารณาศักยภาพในการพัฒนาของพื้นที่จากตัวแปรด้านเกษตรกรรมและพื้นที่ชลประทาน พบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาปานกลางและสูงส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำด้านชายฝั่งตะวันออก ส่วนพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบแคบๆ ด้านชายฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามพื้นที่ด้านนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้อีก สรุปผลการศึกษา พบว่า เทศบาลที่มีความสำคัญมากที่สุดของภาคใต้คือเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เทศบาลที่มีความสำคัญน้อยที่สุด คือ เทศบาลตำบลตะลุบัน เทศบาลในภาคใต้นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลาง การปกครองของจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังทำหน้าที่ให้บริการด้านการค้า การบริการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการแก่พื้นที่โดยรอบ ระดับการให้บริการจะแตกต่างกันไปตามลำดับความสำคัญ และพบว่า ตัวแปรด้านเศรษฐกิจ เป็นตัวแปรที่มีความสำคัญมากที่สุด