Abstract:
ศึกษาประสบการณ์ด้านจิตใจของมารดาที่ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยา มีผู้ให้ข้อมูลคือ มารดาที่ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมจำนวน 6 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่าประสบการณ์ด้านจิตใจ แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1) สิ่งที่โน้มนำไปสู่การตัดสินใจยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม : ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตร มีความเชื่อว่าการยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมเป็นการมอบสิ่งที่ดีแก่บุตร และได้รับความช่วยเหลือและข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ให้ข้อมูลตัดสินใจยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม 2) ความรู้สึกภายหลังจากการยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม : ผู้ให้ข้อมูลเกิดความความรู้สึกเจ็บปวดเสียใจจากการสูญเสียบุตร ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำหน้าที่มารดาได้ดีเพียงพอ และความรู้สึกอยากให้บุตรเข้าใจ
3) การจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น : ผู้ให้ข้อมูลจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายหลังจากการยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม โดยการคิดหาเหตุผลปลอบใจตนเอง การมีความหวังว่าจะได้พบกับบุตร การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเขียนจดหมายหาบุตร สิ่งที่ช่วยให้ผู้ให้ข้อมูลสามารถจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ได้แก่ การที่ผู้ให้ข้อมูลได้รับรู้ความเป็นอยู่ของบุตร และการได้รับกำลังใจจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ 4) การเรียนรู้จากการยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม : การยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมทำให้ผู้ให้ข้อมูลเรียนรู้บทเรียนชีวิต และเรียนรู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทาง ในการทำความเข้าใจประสบการณ์ด้านจิตใจของมารดาที่ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม และให้นักจิตวิทยาการปรึกษาได้มีส่วนช่วยเหลือทางด้านจิตใจ แก่มารดาที่ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรม