Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความแข็งแรงดัดขวางสองแกนและลักษณะการแตกหักของเซอร์โคเนียเซรามิกชนิด Y-TZP ที่มีอัตราส่วนความหนาของชั้นคอร์และวีเนียร์แตกต่างกัน สร้างชิ้นตัวอย่างเซรามิกเป็นแผ่นกลม ให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15±0.5 มม. หนา 1.2 + -0.005 มม. จำนวน 50 ชิ้น โดยได้รับการขึ้นรูปตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต แบ่งชิ้นตัวอย่างเป็น 5 กลุ่ม ๆ ละ 10 ชิ้น ตามอัตราส่วนความหนาของชั้นคอร์ต่อชั้นวีเนียร์ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 = 1: 0 (คอร์เซอร์โคเนียทั้งชิ้น) กลุ่มที่ 2 = 2: 1 (ชั้นคอร์หนา 0.8 มม.) กลุ่มที่ 3 = 1: 1 (ชั้นคอร์หนา 0.6 มม.) กลุ่มที่ 4 = 1: 2 (ชั้นคอร์หนา 0.4 มม.) และกลุ่มที่ 5 = 0: 1 (วีเนียร์พอร์ซเลนทั้งชิ้น) นำชิ้นตัวอย่างทั้งหมดมาทดสอบโดยวิธี Piston on three ball ตามมาตรฐาน ISO 6872 ปี 1995 โดยใช้เครื่อง Instron 5566 ที่ความเร็วหัวกด 1 มม. ต่อนาที และคำนวณหาค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกน ผลการทดสอบพบว่า ค่าเฉลี่ยความแข็งแรงดัดขวางสองแกนและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของแต่ละกลุ่มมีดังนี้ กลุ่มที่ 1 = 921.48 + - 106.86 เมกะพาสคัล กลุ่มที่ 2 = 1009.49 + - 98.72 เมกะพาสคัล กลุ่มที่ 3 = 895.68 + - 92.96 เมกะพาสคัล กลุ่มที่ 4 = 768.08 + - 73.17 เมกะพาสคัล และกลุ่มที่ 5 = 70.49 + - 8.54 เมกะพาสคัล ทำการวิเคราะห์ผลทางสถิติด้วยการทดสอบความเท่ากันของค่าเฉลี่ยโรบัสแล้วทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อนแบบแทมเฮนพบว่า กลุ่มที่ 1-3 มีค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ (p>0.05) แต่มีความแตกกันกับกลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และกลุ่มที่ 5 มีค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า เมื่อความหนารวมของชิ้นตัวอย่างเป็น 1.2 มิลลิเมตร อัตราส่วนคอร์ต่อวีเนียร์ 1: 0, 2: 1 และ 1: 1 ให้ค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนไม่แตกต่างกัน แต่เมื่ออัตราส่วนคอร์ต่อวีเนียร์ลดลงเป็น 1: 2 ทำให้ค่าความแข็งแรงดัดขวางสองแกนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และพบการแตกระหว่างชั้นในกลุ่มที่ประกอบด้วยชั้นคอร์และชั้นวีเนียร์