Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบว่าการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการรณรงค์หาเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงหรือไม่ และการรับรู้ข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต ตลอดจนการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับตัวแปรอิสระ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้หรือไม่เพียงใด เพื่อให้ทราบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการรณรงค์หาเสียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองหรือไม่และมีประสิทธิภาพเพียงใด เพื่อให้ทราบว่าการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการรณรงค์หาเสียงช่วยพัฒนาการเมืองในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้หรือไม่ และเพื่อให้ทราบว่าระบบการตรวจสอบและควบคุมการรณรงค์หาเสียงผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีประสิทธิภาพหรือไม่ และแนวโน้มในอนาคตควรมีลักษณะอย่างไร วิธีการศึกษาวิเคราะห์ได้อาศัยการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2543 - 6 มกราคม 2544 ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 500 ตัวอย่าง และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า การรับรู้ข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตและการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงมีความสัมพันธ์กับ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการรณรงค์หาเสียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองโดยตรงแต่อาจจะมีผลในทางอ้อมและสื่ออินเตอร์เน็ตมีประสิทธิภาพในการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง การใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในทางการเมืองช่วยพัฒนาการเมืองในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารทางการเมืองระหว่างสถาบันทางการเมืองกับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกันเองของคนไทยและระบบการตรวจสอบควบคุมการรณรงค์หาเสียงผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตยังไม่มีประสิทธิภาพแต่ควรใช้การควบคุมทางสังคมมากกว่ามาตรการทางกฎหมายและแนวโน้มในอนาคตควรมีการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการพัฒนาการเมือง