Abstract:
สรุปผลการวิจัย
1.รูปแบบกระบวนการการเรียนรู้บนพื้นฐานแนวคิดไทย ประกอบด้วยกระบวนการสอน 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียม การจัดกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เรียน โดยใช้กิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระในแต่ละคาบเรียน
ขั้นที่ 2 ขั้นสอน การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ตามขั้นตอนการพัฒนาปัญญา 3 ขั้นตอน คือ
1) สุตมยปัยญา การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดปัญญาจากการสดับตรับฟัง การเล่าเรียน การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากการอ่าน การดู การเห็น การสัมผัส การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่ม
2) จินตมยปัญญา การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดปัญญาจากการฝึกฝนค้นคิดเอง รวมทั้งการค้นคว้าแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยวิธีการหลากหลาย และสรุปเป็นองค์ความรู้
3) ภาวนมยปัญญา การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดปัญญาจากการปฏิบัติ โดยการนำความรู้ ความคิด และความรอบรู้หรือปัญญาไปใช้ปฏิบัติจริง
จากการจัดกิจกรรมขั้นตอนทั้ง 3 ขั้นตอนนี้ มุ่งดำเนินการตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ ของโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม รวม 4 ขั้นตอน คือ 1)การให้ประสบการณ์เป็นรูปธรรม 2) การส่งเสริมให้สังเกตอย่างไตร่ตรอง 3) การนำให้มีการสร้างแนวคิดเชิงนามธรรมและสรุปเป็นหลักการ และ 4) การให้ทดลองประยุกต์หลักการที่เรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ และกิจกรรมหลักในขั้นสอนทุกขั้นตอนเน้นความสำคัญของการคิดตามแนวอริยสัจสี่ การคิดแบบโยนิโสมนสิการ และการปฏิบัติตามคาถาหัวใจนักปราชญ์
ขั้นที่ 3 ขั้นประเมินผล ผู้สอนจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความสามารถหรือตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสาระที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้ทราบถึงผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน การประเมินผลการเรียนรู้เน้นความสำคัญของการประเมิน โดยการสังเกตว่าผู้เรียนใช้วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ 10 วิธี วิธีคิดและวิธีปฏิบัติแบบอริยสัจสี่ 4 วิธี และการปฏิบัติตามคาถาหัวใจนักปราชญ์ 4 วิธี ในแต่ละขั้นตอนการสอนทั้ง 3 ขั้นตอน คือ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา และประเมินผลการเรียนรู้ว่าผู้เรียนมีพัฒนามากน้อยอย่างไร
2.ผลการทดลองใช้รูปแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดแบบไทยในเนื้อหาสาระตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2,3,4 และ 6 พบว่า 1) สาระการเรียนรู้ที่นักเรียนเกิดการพัฒนาปัญญามากที่สุด คือ คณิตศาสตร์ 2) นักเรียนระดับชั้นประถามศึกษาปีที่ 6 เกิดการพัฒนาปัญญามากที่สุด 3) ปัญญาที่นักเรียนเกิดการพัฒนามากที่สุด คือ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ 4) วิธีคิดที่ดีที่สุดของแต่ละแบบ คือ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ได้แก่ คิดสืบสาวเหตุปัจจัย คิดวิเคราะห์ คิดรู้เท่าทันธรรมดา และคิดแล้วแสดงออก วิธีปฏิบัติแบบหัวใจนักปราชญ์ คือ สุ. จิ. และ ลิ. และวิธีคิดและวิธีปฏิบัติแบบอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย และนิโรธ
3.รูปแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทยที่สร้างขึ้น มีคุณภาพ เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นการเรียนการสอนตามหลักพุทธธรรมและแนวคิดไทย อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับนักเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นักเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด เกิดการคิดอันนำไปสู่ปัญญา สามารถคิดตามสถานการณ์ที่กำหนด และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนและการปรับปรุงแก้ไขสิ่งไม่ดีด้วยตนเองรูปแบบการเรียนรู้นี้จึงเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผลการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของรูปแบบ และมีการใช้ปัจจัยการผลิตคือผู้สอนและผู้เรียนอย่างเต็มตามศักยภาพมากกว่าการสอนปกติ