Abstract:
อุตสาหกรรมนมดิบในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกลับต้องประสบปัญหาภาวะน้ำนมดิบล้นตลาดอยู่เสมอ เนื่องจากราคาน้ำนมดิบภายในประเทศสูงกว่าราคาน้ำนมคืนรูปนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นเหตุให้โรงงานผู้ผลิตนมพร้อมเครื่องดื่มนำเข้าน้ำนมคืนรูปแทนการรับซื้อน้ำนมดิบ รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภายในประเทศ แต่เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาว่านโยบายและมาตรการเหล่านี้ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากน้อยเพียงใด การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรการปกป้องอุตสาหกรรมนมดิบของรัฐบาลที่มีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโรงงานผู้ผลิตนมพร้อมดื่มพร้อมทั้งทำการเปรียบเทียบผลกระทบที่มีต่อรายรับของภาครัฐและเกษตรกร หากมีการบังคับใช้มาตรการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อน้ำนมดิบภายในประเทศควบคู่กับมาตรการภาษีโควตาอย่างจริงจัง กับมาตรการที่รัฐบาลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการศึกษาในครั้งนี้จะใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการประมาณค่าอุปสงค์นำเข้าน้ำนมคืนรูปโดยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด ผลการศึกษาพบว่า แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม แต่นโยบายและมาตรการเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติ โดบเฉพาะมาตรการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อน้ำนมดิบภายในประเทศ และมาตราการภาษีโควตานำเข้าน้ำนมคืนรูปนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าน้ำนมคืนรูปของโรงงานผู้ผลิตนมพร้อมดื่มเลย ซึ่งเมื่อหาค่าความยืดหยุ่นของความต้องการนำเข้าน้ำนมคืนรูปจากต่างประเทศเพื่อการผลิตนมพร้อมดื่ม ที่มีต่อราคาน้ำนมคืนรูปนำเข้าจากต่างประเทศ พบว่า มีค่าต่ำ (Inelasticity) เท่ากับ -0.4240 เนื่องจากราคาน้ำนมคืนรูปนำเข้าที่ต่ำกว่าราคาน้ำนมดิบภายในประเทศ ประกอบกับปริมาณน้ำนมดิบภายในประเทศที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตนมพร้อมดื่มยังคงมีความต้องการนำเข้าน้ำนมคืนรูป แม้ว่าราคาน้ำนมคืนรูปในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลได้มีการใช้มาตรการเหล่านี้อย่างจริงจังในปี 2538 – 2545 แล้ว จะพบว่า รัฐบาลจะได้รับรายรับภาษีเพิ่มขึ้นเฉพาะในปี 2538 – 2540 เท่ากับ 496.89 1,468.18 และ 1,000.22 ล้านบาทตามลำดับ อย่างไรก็ตามปริมาณโควตานำเข้าน้ำนมคืนรูปที่รัฐบาลจัดสรรให้โรงงานผู้ผลิตนมพร้อมดื่มในปี 2541 – 2545 นั้น มากเกินกว่าความต้องการ และถ้าโรงงานนำเข้าน้ำนมคืนรูปตามโควตาที่ได้รับมาเก็บเป็นสต๊อกเพื่อใช้ในปีถัดไป จะส่งผลให้ความต้องการน้ำนมดิบภายในประเทศลดต่ำลง และเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดตามมา ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียต่อเกษตรกรถึง 1,293 2,108 และ 2,679 ล้านบาท ในปี 2543 – 2545 ตามลำดับ