Abstract:
ในการศึกษาแบ่งเป็น 2 การทดลอง เพื่อหาค่าการย่อยได้และการใช้ประโยชน์ของต้นข้าวโพดฝักอ่อน เปลือกข้าวโพดฝักอ่อน และหญ้าขนในกระต่าย การทดลองที่ 1 แบ่งกระต่ายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว เพื่อศึกษาค่าการย่อยได้ของโภชนะในอาหารหยาบทั้ง 3 ชนิด ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าค่าการย่อยได้ วัตถุแห้ง อินทรียวัตถุ เยื่อใย ไนโตรเจน-ฟรีเอกแทรคซ์ และพลังงานของเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนมีค่าสูงกว่าในต้นข้าวโพดฝักอ่อนและหญ้าขน ยกเว้นค่าการย่อยได้โปรตีนซึ่งต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีค่าสูงกว่า ผลจากการให้อาหารหยาบแต่เพียงอย่างเดียวทำให้กระต่ายมีการสูญเสียน้ำหนักตัว จึงไม่ควรใช้อาหารหยาบเหล่านี้เลี้ยงกระต่ายแต่เพียงอย่างเดียว การทดลองที่ 2 ใช้กระต่ายจำนวน 54 ตัว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 13 ตัว นำกระต่ายแต่ละตัวขึ้นขังกรงเดี่ยวและเลี้ยงด้วยอาหารหยาบชนิดใดชนิดหนึ่ง พร้อมทั้งเสริมด้วยอาหารข้นอัดเม็ดในระดับเต็มที่ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากระต่ายกลุ่มที่เลี้ยงด้วยเหลือกข้าวโพดฝักอ่อนมีระดับการกินต่ำกว่ากระต่ายกลุ่มที่เลี้ยงด้วยต้นข้าวโพดฝักอ่อนและหญ้าขนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สำหรับอัตราการเจริญเติบโตต่อวันและประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารของกระต่ายทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกัน ในการศึกษาพบว่ากระต่ายกลุ่มที่เลี้ยงด้วยเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นแต่ไม่พบว่ามีอัตราการตาย เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตในส่วนที่เป็นค่าอาหารพบว่ากระต่ายที่เลี้ยงด้วยต้นข้าวโพดฝักอ่อน และเปลือกข้าวโพดฝักอ่อน มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้หญ้าขน 3.7 และ 18.4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าต้นข้าวโพดฝักอ่อน และเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับกระต่ายได้ อย่างไรก็ตามในการใช้เปลือกข้าวโพดฝักอ่อนควรระมัดระวังเกี่ยวกับอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ข้อเสนอแนะในการเลี้ยงกระต่ายด้วยเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนก็คือ ควรเพิ่มระดับเยื่อใยในอาหารข้น หรือใช้เปลือกข้าวโพดฝักอ่อนเลี้ยงร่วมกับอาหารหยาบชนิดอื่นที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว