Abstract:
การศึกษาอิทธิพลของลัยโซซัยม์และแล็คโตเฟอร์รินโดยการเติมลงในน้ำนมโคต่อการเกิดผลบวกเท็จของชุดตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมโคที่พัฒนาขึ้นใหม่ "เคเอส-9" พบว่าจะต้องมีปริมาณอย่างน้อยที่สุดเท่ากับหรือมากกว่า 2.38-4.75 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และ 9.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าลัยโซซัยม์และแล็คโตเฟอร์รินในน้ำนมโคที่พบในธรรมชาติมาก นอกจากนี้ไม่พบว่าลัยโซซัยม์และแล็คโตเฟอร์รินมีการเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันเมื่อทดสอบด้วยชุดตรวจสอบ "เคเอส-9" แสดงว่าชุดตรวจสอบ "เคเอส-9" มีความไวรับต่ำต่อสารทั้ง 2 ชนิดนี้ ทั้งนี้ การทำลายคุณสมบัติสารต้านจุลชีพของลัยโซซัยม์ต้องใช้ความร้อนที่สูงกว่าแล็คโตเฟอร์ริน และพบว่าการอุ่นตัวอย่างที่อุณหภูมิ 98+-2 องศาเซลเซียส จะให้ผลดีกว่าที่อุณหภูมิ 83+-1 องศาเซลเซียส ตัวอย่างน้ำนมโคในวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 หลังคลอดสามารถทำให้เกิดผลบวกเท็จในชุดตรวจสอบ"เคเอส-9" ได้สูงถึง 100% จากนั้นจะลดลงตามลำดับคือ 72, 60, 44, 16, 12, 4 และ 0% ในวันที่ 4 ถึงวันที่ 10 หลังคลอด ตามลำดับ การอุ่นตัวอย่างน้ำนมที่อุณหภูมิ 83+-1 องศาเซลเซียส และ 98+-2 องศาเซลเซียส ก่อนการทดสอบด้วยชุดตรวจสอบ "เคเอส-9" จะสามารถลดเปอร์เซ็นต์การเกิดผลบวกเท็จได้น้อยมากในตัวอย่างน้ำนมหลังคลอดวันที่ 1 และวันที่ 2 แต่การอุ่นตัวอย่างน้ำนมจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นในการลดการเกิดผลบวกเท็จเมื่อทำการทดสอบตัวอย่างน้ำนมโควันที่ 3 หลังคลอดเป็นต้นไป โดยเปอร์เซ็นต์การเกิดผลบวกเท็จจะลดลงตามลำดับ และเหลือ 0% ในวันที่ 7 หลังคลอดเมื่อทำการอุ่นตัวอย่างน้ำนมที่อุณหภูมิ 98+-2 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที ดังนั้นการเกิดผลบวกเท็จของชุดตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำนมคา "เคเอส-9" หลังจากการอุ่นตัวอย่างน้ำนมโคหลังคลอดแล้วก็ดีจึงอาจเกิดจากสารต้านจุลชีพตามธรรมชาติชนิดอื่นๆ ที่ทนต่อความร้อนได้ดีกว่าลัยโซซัยม์และแล็คโคเฟอร์ริน