Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาไพริเมทามีนต่อการติดเชื้อ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม และผลของยาไพริเมทามีนต่อยีนไดไฮโดรโฟเลทรีดักเทส-ไทมิไดเลทซินเทสของเชื้อ พลาสโมเดียมกัลลินาเซียม ในไก่ไข่เพศผู้อายุ 3-4 สัปดาห์ ในการศึกษาประสิทธิภาพของยา ใช้ไก่ จำนวน 220 ตัว แบ่งเป็น 11 กลุ่ม กลุ่มละ 20 ตัว กลุ่ม ที่ 1 ไก่ควบคุมที่ไม่ได้รับเชื้อและไม่ได้รับยากลุ่มที่ 2 ไก่ควบคุมที่ได้รับเชื้อและไม่ได้รับยา กลุ่มที่ 3-11 ไก่ติดเชื้อและได้รับ ยา pyrimethamine ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ในขนาด 0.04, 0.1, 0.2, 0.5, 1.0, 2.5, 5.0, 7.5 และ 10.0 มก กก.⁻¹ ตามลำดับ ผลปรากฏว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองยา pyrimethamine ขนาด 7.5 มกกก.⁻¹ มีประสิทธิภาพสูงที่สุด (minimum effective dose, MED) อัตราเฉลี่ยของระดับเชื้อในกระแสเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดการทดลอง แต่ยาไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปจากกระแสเลือดได้ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับเชื้อ P. gallinaceum ในกระแสเลือด หลังการให้ยา pyrimethamine อย่างต่อเนื่องในขนาด MED และขนาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 และ 4 เท่าของขนาด MED ใช้ไก่ จำนวน 120 ตัว แบ่งใช้เป็นรุ่นๆ รุ่นละ 10 ตัว 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 ไก่ควบคุมที่ติดเชื้อและไม่ให้ยา กลุ่มที่ 2 ไก่ที่ติดเชื้อไอโซเลท MNTH2543 ให้ยาไพริเมทามีน7.5 มกกก.⁻¹ ติดต่อกันนาน 4 วัน ต่อรุ่น ทำการทดลองเช่นเดิมต่อเนื่องในไก่ 10 รุ่น ปรากฏว่ายาไม่สามารถกำจัดให้เชื้อ หมดไป แต่อัตราเฉลี่ยของระดับเชื้อในเลือดลดลงเป็นลำดับอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มควบคุมที่ติดเชื้อและไม่ได้รับยา ส่วนการให้ยาไพริเมทามีน 15 และ 30 มก กก.⁻¹ ได้ทำการทดลองในไก่ที่ติดเชื้อจำนวน 3 และ 1 รุ่นตาม ลำดับ พบว่าไก่กลุ่มที่ติดเชื้อและได้รับยาไพริเมทามีน 15 มก กก⁻¹ อัตราเฉลี่ยของระดับเชื้อในเลือดต่ำมากแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) จาก ไก่กลุ่มควบคุมที่ติดเชื้อและไม่ได้ให้ยา การใช้ยาขนาด 15 และ 30 มก กก.⁻¹ มีผลข้างเคียงสูงทำให้ไก่ตายในที่สุด การศึกษายีน dhfr-ts ของเชื้อ พลาสโมเดียม กัลลินาเซียม 3 ไอโซ เลท คือ MNTH2543, BYTH2546 และ PCTH2543 ในไก่ติดเชื้อที่ไม่เคยได้รับยา และเชื้อไอโซเลท MNTH25431ในไก่ที่ติดเชื้อและให้ยาไพริเมทามีนในขนาด 1, 2 และ 4 เท่าของ MED ตามการทดลองข้างต้น ทำการเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอของยีน dhfr-ts ด้วยเทคนิคที่เกิดจากปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยใช้ไพรเมอร์ 2 คู่ คู่ที่ 1 ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเออยู่ในช่วงลำดับเบสที่ 321 ถึง 590 และคู่ที่ 2 ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเออยู่ ในช่วงลำดับเบสที่ 183 ถึง 1952 และทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบลำดับเบสกรดอะมิโนของผลิตภัณฑ์ที่ได้ ผลปรากฏว่า การใช้ไพรเมอร์คู่ที่ 1 ในปฏิกิริยาดังกล่าว ให้ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเอที่มีน้ำหนักโมเลกุลขนาด 269 เบส เท่ากันทุกตัวอย่าง กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 109 ของยีน dhfr-ts ของเชื้อที่ไม่เคยได้รับยาไอโซเลท MNTH2543 และ BYTH2546 และ เชื้อไอโซเลท MNTH2543 ที่ได้รับยาขนาด MED และ 2X MED มีลำดับเบสเป็น asparagine (AAC) แตกต่างกับกรดอะมิโนของเชื้อไอโซเลท PCTH2543 และเชื้อพลาสโมเดียมกัลลินาเซียม จากฐานข้อมูลของ GenBank (accession no. AY 033582) ที่มีลำดับเบสเป็น serine (AGC) จากผลที่ได้จึงคาดว่าเชื้อพลาสโมเดียมกัลลินาเซียม MNTH2543 และ BYTH2546 มียีนที่ดื้อต่อยาไพริเมทามีน สำหรับการใช้ไพรเมอร์คู่ที่ 2 ในปฏิกิริยาลูกโซ่เพื่อเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอของยีน dhfr-ts ของเชื้อ พลาสโมเดียมกัลลินาเซียม ให้ผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเอที่มีน้ำหนักโมเลกุลขนาด 1770 เบส โดยตรวจพบได้จากตัวอย่างเชื้อไอโซเลท MNTH2543 ที่ไม่เคยได้รับยาเท่านั้น สำหรับตัวอย่างอื่นๆ ยังตรวจไม่พบผลิตภัณฑ์ดีเอ็นเอ