Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบมโนทัศน์ความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบท พุทธธรรม 2) พัฒนามาตรวัดความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรมที่มีคุณลักษณะทางจิตมิติที่พึงประสงค์ และ 3) ศึกษาเกณฑ์ปกติของมาตรวัดความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรม โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสานวิธี การวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพเรื่องความสุขในบริบทพุทธธรรมโดยใช้การสัมภาษณ์รายบุคคลนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผ่านการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ที่มีความสุขในบริบทพุทธธรรม จำนวน 26 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Atlas.ti 6.2 ในการให้รหัสและจัดกลุ่มข้อมูล และ ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดที่พัฒนาขึ้น และพัฒนาเกณฑ์ปกติในกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 1,877 คน จาก 10 มหาวิทยาลัยซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows และ LISREL ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่า กรอบมโนทัศน์ความสุขของนิสิตนักศึกษาในบริบทพุทธธรรมประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความพอใจในชีวิต (2) การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเกื้อกูลกัน (3) การมีศรัทธาต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม (4) การมีใจที่สุขสงบ และ (5) การมีปัญญารู้และเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ผลการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัดความสุขพบว่า มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์จากการตรวจสอบกับแบบวัดปัญญา (r = .76) แบบวัดสุขภาวะทางจิต (r = .13 ถึง .53) และแบบวัดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เฉพาะ (r = -.60) และแบบวัดความวิตกกังวลของตนเองโดยทั่วไป (r = -.73) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบด้วยเทคนิคกลุ่มรู้ชัด (t = 4.5, p < .001) และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สองพบว่าโมเดลการวัดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (X²= 74.23; df = 59; p = .087; CFI = .99; GFI = .99; AGFI = .99; SRMR = .02; RMSEA = .01; X²/df = 1.26) และมีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคของมาตรวัดทั้งฉบับเท่ากับ .92 ผลการพัฒนาเกณฑ์ปกติพบว่ามีคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T16 ถึง T84 ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้เครื่องมือสำหรับใช้สำรวจ คัดกรอง และประเมินผลความสุขที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ตลอดจน สามารถนำกรอบมโนทัศน์ที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาความสุขสำหรับนิสิตนักศึกษาที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาตนให้เป็นผู้ที่มีความสุขได้ต่อไป