Abstract:
วัสดุและวิธีการ ภาพรังสีวัดศีรษะด้านข้างของผู้ป่วยบัณฑิตศึกษา ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 327 ราย อายุ 16-40 ปี ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งมีโครงสร้างใบหน้าในแนวดิ่งแบบสบปกติ 167 ราย แบ่งเป็นสามกลุ่มย่อย คือ โครงสร้างใบหน้าในแนวหน้า-หลังแบบที่หนึ่ง แบบที่สอง และแบบที่สาม กลุ่มที่สองมีโครงสร้างใบหน้าในแนวหน้า-หลังแบบที่หนึ่ง 152 ราย แบ่งเป็นสามกลุ่มย่อย คือ โครงสร้างใบหน้าแนวดิ่งแบบสบลึก สบปกติ และสบเปิด วัดมิติทางเดินหายใจ ส่วนบนด้วยโปรแกรมอินฟินิทและโปรแกรมอิมเมจทูลเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มย่อยโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการศึกษา ในกลุ่มที่หนึ่ง มิติทางเดินหายใจส่วนบนจะมีค่าน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อผู้ป่วยมีโครงสร้างใบหน้าแบบที่สาม แบบที่หนึ่ง และแบบที่สอง ตามลำดับ ในกลุ่มที่สองมิติทางเดินหายใจส่วนบนจะมีค่าน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อผู้ป่วยมีโครงสร้างใบหน้าแบบสบลึก สบปกติ และ สบเปิด ตามลำดับ สรุป ผู้ป่วยจัดฟันไทยที่มีโครงสร้างใบหน้าในแนวดิ่งหรือแนวหน้า-หลังต่างกันจะมีมิติทางเดินหายใจส่วนบนต่างกัน