Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อประเมิน และเปรียบเทียบปริมาณกระดูกภายหลังการปลูกถ่ายในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการปลูกถ่ายกระดูกทุติยภูมิ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ของหน่วยความผิดปกติของใบหน้าแต่กำเนิด โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 100 ราย (ชาย 56 ราย หญิง 44 ราย) อายุเฉลี่ย 14.45±5.62 ปี (8.7-32.5 ปี) แบ่งเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียว 62 ราย ปากแหว่งเพดานโหว่สองด้าน 27 ราย และกระดูกเบ้าฟันโหว่ด้านเดียว 11 ราย ผู้ป่วยทุกรายใช้กระดูกสะโพกของตนเองในการปลูกถ่าย ประเมินปริมาณกระดูกจากภาพรังสีกัดสบหลังการปลูกถ่ายในระยะแรก 3-6 เดือน และในระยะยาวไม่น้อยกว่า 1 ปี แบ่งระดับกระดูกออกเป็น ระดับ 1 (≥ ร้อยละ 75) ระดับ 2 (≥ ร้อยละ 50) ระดับ 3( ≥ ร้อยละ 25) และระดับ 4 (< ร้อยละ 25) วิเคราะห์ระดับกระดูกที่เปลี่ยนแปลงระหว่างการติดตามผลระยะแรก และระยะยาวด้วยการทดสอบเชิงเครื่องหมายและลำดับที่แบบวิลคอกซันสำหรับตัวอย่างคู่ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกถ่ายกระดูกกับปริมาณกระดูกหลังการปลูกถ่ายด้วยการทดสอบไคสแควร์ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลวิจัยพบว่า ในการรักษากระดูกเบ้าฟันโหว่ด้วยการปลูกถ่ายกระดูกทุติยภูมิ 127 ตำแหน่ง ในการติดตามผลระยะแรกประสบความสำเร็จร้อยละ 94.5 โดยร้อยละ 76.4 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 75 ร้อยละ 18.1 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 50 ร้อยละ 5.5 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 25 การติดตามผลในระยะสุดท้ายประสบความสำเร็จร้อยละ 92.9 โดยร้อยละ 74.8 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 75 ร้อยละ 18.1 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 50 ร้อยละ 7.1 มีกระดูก ≥ ร้อยละ 25 ปริมาณกระดูกภายหลังการปลูกถ่ายในระยะแรกและระยะสุดท้ายไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ .05 อายุผู้ป่วย การงอกของฟันเขี้ยว และการเคลื่อนฟันทางทันตกรรมจัดฟันมีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จของการปลูกถ่ายกระดูกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ .05) งานวิจัยสนับสนุนการศึกษาที่ผ่านมาซึ่งแนะนำว่าช่วงเวลาปลูกถ่ายกระดูกที่เหมาะสมคือ ก่อนการงอกของฟันเขี้ยวที่อยู่ชิดกับช่องโหว่