Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงรูปแบบและลักษณะการทำงาน ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำงานและปัจจัยที่มีผลต่อค่าจ้างของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการศึกษาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการศึกษาเชิงพรรณาโดยอาศัยข้อมูลจากงานศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดประชุมกลุ่มย่อย ในส่วนที่สอง เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2550 ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้แบบจำลองลอจิตเข้ามาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การตัดสินใจทำงานของผู้สูงอายุและใช้วิธีการประมาณค่า Maximum likelihood (ML) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อค่าจ้างของผู้สูงอายุ
ผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าร่วมในกำลังแรงงานคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษา ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างและส่วนใหญ่ทำงานทุกวัน วันละ 7-8 ชั่วโมง สำหรับผลการจัดประชุมกลุ่มย่อยนั้น ชี้ว่าการสนับสนุนผู้สูงอายุให้เข้าร่วมในกำลังแรงงานจะไม่มีอุปสรรคใดๆ หากมีการปรับลักษณะงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ แต่สำหรับการขยายอายุเกษียณของข้าราชการต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำงานทั้งของผู้สูงอายุและผู้ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ ได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพสมรส การศึกษา สุขภาพ เงินบำเหน็จบำนาญ เงินออมและดอกเบี้ย เบี้ยยังชีพ หนี้สิน การให้เงินบุตร การได้รับเงินจากบุตร โดยปัจจัยที่ส่งอิทธิพลให้ผู้สูงอายุต้องการทำงานมากที่สุด ได้แก่ เบี้ยยังชีพที่ไม่เพียงพอ การให้เงินบุตรและสุขภาพที่เอื้ออำนวยตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องการเข้าร่วมในกำลังแรงงาน ได้แก่ เงินบำเหน็จบำนาญ การได้รับเงินจากบุตร เงินออมและดอกเบี้ย นอกจากนี้ในงานศึกษายังพบว่า อายุ เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา สุขภาพ อาชีพ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อค่าจ้างของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ มาตรการและนโยบายของภาครัฐว่าควรมีความสอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยการสะสมเงินออมในวัยทำงาน และพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์ในตัวเองอย่างต่อเนื่อง