Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพยาธิกำเนิดของเชื้อไวรัสพีอีดีที่แยกได้ในประเทศไทยหลังจากทำให้อ่อนกำลังลงโดยผ่านการเพาะเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด Vero cells ลูกสุกรอายุ 1 วันที่ไม่ได้รับนมน้ำเหลืองจำนวน 28 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (จำนวน 12 ตัว) ป้อนด้วยเชื้อไวรัสพีอีดีชนิดอ่อนแรงที่ผ่านการเพาะเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยงจำนวน 53 รอบ (กลุ่มเชื้ออ่อนแรง) กลุ่มที่ 2 (จำนวน 12 ตัว) ป้อนด้วยเชื้อไวรัสพีอีดีที่ผ่านเซลล์เพาะเลี้ยงจำนวน 1 รอบ (กลุ่มเชื้อรุนแรง) กลุ่มที่ 3 (จำนวน 4 ตัว) ป้อนด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อเพียงอย่างเดียว (กลุ่มควบคุมลบ) หลังจากป้อนเชื้อไวรัส สังเกตอาการทางคลินิกทุก 6 ชั่วโมง ทำการการุณยฆาต ที่ 12 24 36 และ 72 ชั่วโมงหลังการป้อนเชื้อ ศึกษารอยโรคทางมหกายวิภาค รอยโรคทางจุลพยาธิวิทยา อัตราส่วนวิลไล/ความลึกของคริป (Villi height/Crypt depth, VH/CD) ในลำไส้เล็กส่วนเจจูนัม และไอเลียม ตรวจหาสารพันธุกรรมบางส่วนของยีน S ของเชื้อไวรัส และหาปริมาณเชื้อไวรัสพีอีดีด้วยวิธี viral titration ณ เวลา ที่ 24 ชั่วโมงหลังการป้อนเชื้อพบว่า ลูกสุกรกลุ่มที่ 1 พบสุกรมีอาการท้องเสียน้อยกว่าสุกรกลุ่มที่ 2 รอยโรคทางมหกายวิภาคพบว่าสุกรกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 มีรอยโรคคล้ายกัน แต่สุกรกลุ่มที่ 1 มีความรุนแรงของรอยโรคน้อยกว่า สำหรับคะแนนรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยาพบว่าในกลุ่มที่ 2 มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ 1 ในสุกรที่มีรอยโรครุนแรงพบ การหดสั้นของวิลไล การเข้ามาของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ และการลอกหลุดของเซลล์เยื่อบุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำไส้เล็กส่วนเจจูนัม และไอเลียม สอดคล้องกับอัตราส่วน VH/CD ที่พบว่า อัตราส่วน VH/CD ในลำไส้เล็กส่วนไอเลียมของกลุ่มที่ 1 จะมีค่ามากกว่ากลุ่มที่ 2 ที่ 24 และ 36 ชั่วโมงหลังการป้อนเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) พบสารพันธุกรรมบางส่วนของยีน S จากตัวอย่างที่เก็บจากสุกรทั้ง 2 กลุ่ม และพบปริมาณเชื้อไวรัสในทั้ง 2 กลุ่ม แต่ในกลุ่มที่ 2 จะมีปริมาณที่สูงกว่า จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่า เชื้อไวรัสพีอีดีที่ผ่านการเพาะเลี้ยงใน Vero cells จำนวน 53 รอบ ยังสามารถทำให้เกิดลำไส้อักเสบ และท้องเสียในสุกรที่ไม่ได้รับนมน้ำเหลือง แต่พบความรุนแรงของการอักเสบของลำไส้ และการหดสั้นของวิลไลน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับเชื้อไวรัสพีอีดีที่ผ่านเซลล์เพาะเลี้ยงเพียง 1 รอบ จึงกล่าวได้ว่าการนำเชื้อไวรัสพีอีดีมาเพาะเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด Vero cells จำนวน 53 รอบนั้นสามารถลดความสามารถในการก่อโรคได้ โดยในการศึกษาขั้นต่อไป ควรที่จะศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อไวรัสที่ผ่านการเพาะเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยงจำนวน 53 รอบในสุกรอุ้มท้อง