Abstract:
โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis) เกิดจากพยาธิ 2 ชนิดหลัก คือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคเท้าช้างเป็นโรคทางปรสิตที่ควรกำจัดให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคเท้าช้างคือการจัดให้มีโปรแกรมการรักษาแบบหมู่ โดยให้ยา diethylcarbamazine (DEC) ร่วมกับยา albendazole แก่ประชากรในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง และการควบคุมพยาธิภาวะ ปัญหาที่สำคัญของการรักษาโรคเท้าช้าง คือ การใช้ยา DEC ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษา กลไกของการเกิดพยาธิสภาพของโรคและการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดได้ จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกำจัดโรค การศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาเชิงลึกของโรคเท้าช้างจะช่วยให้การกำจัดโรคสำเร็จลงได้อย่างยั่งยืน ผลการศึกษาในปีที่ 3 นี้ ได้ศึกษารูปแบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังการรักษาโรคเท้าช้าง โดยวัดระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ interleukin (IL)-6 และ tumor necrosis factor (TNF)-α ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีปฏิกิริยาหลังการรักษาน้อย (mild) ปฏิกิริยาหลังการรักษาปานกลาง (moderate) และปฏิกิริยาหลังการรักษาชนิดรุนแรง (severe) หลังการรักษาด้วยยา DEC เมื่อเปรียบเทียบกันระดับไซโตไคน์ในกระแสเลือดก่อนการรักษาด้วยยา DEC พบว่าผู้ป่วยโรคเท้าช้างมีระดับ IL-6 และ TNF-α สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่เวลา 24 ชั่วโมงหลังการรักษา (P<0.05) โดยพบว่าระดับของไซโตไคน์ IL-6 สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของปฏิกิริยาหลังการรักษา ในขณะที่ระดับไซโตไคน์ TNF- α สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาชนิดรุนแรงเท่านั้น สำหรับการวัดระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านการอักเสบ IL-10 มีระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาชนิดปานกลางและชนิดรุนแรงเท่านั้น โดยถูกปล่อยออกมาในระดับสูงสุดที่เวลา 12-24 ชั่วโมงหลักการรักษา ในขณะที่ระดับไซโตไคน์ IL-12 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่เวลา 24 ชั่วโมงหลังการรักษา และไม่พบความสัมพันธ์ของระดับของไซโตไคน์กับระดับความรุนแรงของปฏิกิริยาหลังการรักษา (โครงการย่อยที่ 1) และจากการทบทวนวรรณกรรมตลอดจนค้นหาจากฐานข้อมูลได้พบยีน peptidoglycan-associated lipoprotein (pal) มีความน่าสนใจที่ใช้ศึกษาทางอิมมูนวิทยาต่อไป จึงได้ทำการโคลนและสร้างโปรตีนบริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ และวัดระดับแอนติบอดีชนิดต่าง ๆ ที่จำเพาะต่อโปรตีน PAL ในกระแสเลือดของผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่มีการติดเชื้อปัจจุบัน (active infections) ทั้งผู้ป่วยที่ตรวจพบไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด (Ag+/Mf+) และตรวจไม่พบไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด (Ag+/Mf-) กลุ่มผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่มีพยาธิสภาพเรื้อรัง (chronic pathology; CP) ตลอดจนกลุ่มคนปกติที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุกชุมของโรคเท้าช้าง (endemic normals; EN) (Ag-/Mf-) พบว่าแอนติบอดีชนิด IgG3 ที่จำเพาะต่อโปรตีน PAL มีระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มการติดเชื้อปัจจุบัน ซึ่งตรวจพบแอนติเจนที่จำเพาะต่อพยาธิโรคเท้าช้าง (Ag+/Mf- และ Ag+/Mf+) เปรียบเทียบกับระดับของแอนติบอดีในกลุ่มคนปกติที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุกชุมของโรคเท้าช้าง (P=0.003) โดยพบการสูงขึ้นของระดับแอนติบอดีอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่ตรวจพบไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด (Ag+/Mf+) (P=0.04) (โครงการย่อยที่ 2) สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน toll-like receptor 2 (tlr-2) กับความไวรับและการเกิดพยาธิสภาพของโรคเท้าช้าง ได้ตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน TLR2 แบบ -197 to -174 ins/del ซึ่งอยู่ในบริเวณ 5’ untranslated region (5’ UTR) โดยใช้เทคนิค allele-specific polymerase chain reaction (AS-PCR) และตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมแบบการเปลี่ยนแปลงลำดับนิวคลีโอไทด์เพียงตำแหน่งเดียว (single nucleotide polymorphisms; SNPs) ของยีน TLR2 แบบ +597 T/C และ +1350 T/C ในบริเวณ exon 3 โดยใช้เทคนิค polymerase chain reaction-restriction fragment length polymorphism analysis (PCR-RFLP) พบว่าความถี่จีโนไทป์ของความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้ง 3 ตำแหน่งที่ทดสอบ -197 to -174 ins/del, +597 T/C, และ +1350 T/C อยู่ในสมดุลฮาร์ดี-ไวน์เบิร์ก (P>0.05) อัลลีล -197 to -174del สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเท้าช้าง ([P=0.005], OR=2.21 [95% CI = 1.25-3.92] อัลลีล +597C และ +1350C เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเท้าช้าง ([P = 0.001], OR = 2.58 [95% CI = 1.40-4.75], และ [P =0.0121], OR = 2.37 [95% CI = 1.19-4.77], ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมทั้ง 3 ตำแหน่งถ่ายทอดไปร่วมกัน TLR2 haplotype แบบ -197 to -174del/+597C/+1350C (delCC) สัมพันธ์กับความไวรับโรคเท้าช้างอย่างมีนัยสำคัญ จากการพยากรณ์โดยใช้ซอฟแวร์ Mfold พบว่า RNA ของ -197 to -174 del มีความเสถียรน้อยกว่า RNA ของ -197 to -174 ins อย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้เป็นการศึกาทางด้านระบาดวิทยาเชิงพันธุศาสตร์เบื้องต้นซึ่งชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน TLR2 แบบ -197 to -174 ins/del, +597 T/C, และ +1350 T/C มีความสัมพันธ์กับความไวรับโรคเท้าช้าง (โครงการย่อยที่ 3)