Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฝึกโปรแกรม Mind – Read ต่อการเข้าใจทรรศนะของบุคคลอื่นของเด็กออทิสติก กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กออทิสติกอายุระหว่าง 6 ปี ถึง 7 ปี จำนวนทั้งหมด 24 คน จัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย คือ กลุ่มทดลอง ที่เข้ารับการฝึกโปรแกรม Mind-Read และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกโปรแกรม Mind-Read กลุ่มละ 12 คน กลุ่มตัวอย่างในกลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกโปรแกรม Mind – Read ในการเรียนรู้การเข้าใจทรรศนะของบุคคลอื่น จำนวน 10 กิจกรรม ส่วนกลุ่มตัวอย่างในกลุ่มควบคุมทำกิจกรรมปกติในชั้นเรียน กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเข้ารับการทดสอบความสามารถในการเข้าใจทรรศนะของบุคคลอื่นทั้งในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผลแล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติวิเคราะห์ที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (One Way Repeated Measures ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลองค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการเข้าใจทรรศนะของบุคลอื่นกลุ่มทดลอง (M=9.50, SD=1.62) และกลุ่มควบคุม (M=3.33, SD=0.98) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (t = 11.249, df = 22, p<.01) 2. หลังการทดลองความสามารถในการเข้าใจทรรศนะของบุคคลอื่นทั้ง 3 ด้าน และความสามารถโดยรวมของกลุ่มทดลองที่เข้ารับการฝึกโปรแกรม Mind-Read มีค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถสูงกว่าก่อนการเข้ารับการฝึกโปรแกรม Mind-Read อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในการเข้าใจทรรศนะของบุคคลอื่นทั้ง 3 ด้าน และความสามารถโดยรวมหลังการทดลองไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถในช่วงติดตามผล