Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการแจกแจงที่เหมาะสมกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีเซท50 และพันธบัตรรัฐบาล ด้วยการใช้การแจกแจงแบบปกติเปรียบเทียบกับการแจกแจงแบบทรังเคต เลวี่ ไฟลท์ (TLF) พร้อมคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนของสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอระหว่างดัชนีเซท 50 และพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งวัดมูลค่าความเสี่ยงแบบมีเงื่อนไข (CVaR) ของสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอระหว่างดัชนีเซท 50 และพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้ได้ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมที่องค์กรรับได้ ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยนี้ คือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีเซท 50 ย้อนหลังเป็นเวลา 9 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2545 ถึงพ.ศ.2553 เป็นรายวัน และรายสัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่าการแจกแจงแบบทรังเคต เลวี่ ไฟลท์มีความเหมาะสมกับอัตราผลตอบแทนของดัชนีเซท 50 และพันธบัตรรัฐบาล เมื่อจำลองการจัดสัดส่วนของพอร์ตโฟลิโอด้วยวิธีมอนติคาร์โล และผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าพอร์ตโฟลิโอก็มีการแจกแจงแบบทรังเคต เลวี่ ไฟลท์ เช่นกัน อัตราผลตอบแทนรายวันระหว่างการลงทุนใน 60% ดัชนีเซท 50 และ 40% พันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าความเสี่ยงแบบมีเงื่อนไขอยู่ในระดับกลางๆจากทั้งหมด 7 สัดส่วน มีอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยง (Risk adjusted return) สูงที่สุด ส่วนอัตราผลตอบแทนรายสัปดาห์การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพียงอย่างเดียวมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด มูลค่าความเสี่ยงแบบมีเงื่อนไขที่วัดได้ก็มีค่าความเสี่ยงน้อยที่สุด และนอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงสูงที่สุดอีกด้วย ผลจากการคาดการณ์อัตราผลตอบแทนในการวิจัยนี้ยังพบว่าระยะเวลาในการถือครองหลักทรัพย์ที่นานขึ้นความเสี่ยงของแต่ละพอร์ตโฟลิโอที่มีสัดส่วนแตกต่างกันมีความเสี่ยงไม่ค่อยแตกต่างกัน ทั้งนี้การเลือกสัดส่วนของพอร์ตโฟลิโอนักลงทุนควรเลือกสัดส่วนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk appetite)