Abstract:
วิเคราะห์การคัดเลือกได้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายของกระบวนการจัดสรรเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ (เบี้ยยังชีพ) ในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระดับของปัญหาการคัดเลือกอย่างไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เกิดขึ้น ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ เป็นการศึกษาถึงการคัดเลือกได้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายสองประเภท ได้แก่ ผู้ที่มีสิทธิ์แต่ไม่ได้รับการจัดสรรเบี้ยยังชีพ (Non-take up rate, NTUR) และผู้ที่ไม่มีสิทธิ์แต่ได้รับการจัดสรรเบี้ยยังชีพ (Overpayment rate, OPR) ในระดับภาพรวมของประเทศ ภูมิภาค เขตการปกครอง และจังหวัด ส่วนที่สองเป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดการคัดเลือกได้ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายทั้งสองประเภท โดยใช้ข้อมูลระดับจังหวัด วิธีการศึกษาเป็นการประมาณค่าแบบจำลองการถดถอยโลจิสติก ผลการศึกษาส่วนที่หนึ่งพบว่า ในภาพรวมของประเทศ NTUR มีสัดส่วนคิดเป็น 62.1% ส่วน OPR มีสัดส่วนคิดเป็น 24.9% การพิจารณาในระดับภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วน NTUR มากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วน OPR มากที่สุด หากพิจารณาตามเขตการปกครองพบว่าในเขตชนบทมีสัดส่วน NTUR และ OPR มากกว่าในเขตเมือง ผลการศึกษาส่วนที่สองพบว่า ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิด NTUR ได้ง่าย ได้แก่ สัดส่วนคนยากจนในจังหวัด สัดส่วนการไม่ทราบสิทธิ์เกี่ยวกับเงินสงเคราะห์ฯของผู้สูงอายุ และรายได้จากการจัดเก็บภาษีในท้องถิ่นต่อจำนวนประชากร ส่วนปัจจัยที่มีผลทำให้เกิด OPR ได้ง่ายคือ สัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่นอกเขตเทศบาลต่อผู้สูงอายุทั้งหมด