Abstract:
การศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในเมืองเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. ศึกษาองค์ประกอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2. ศึกษากระบวนการจัดการท่องเที่ยวและวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัจจุบัน 3. วิเคราะห์ศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ 4. เสนอแนะการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เหมาะสมของเมืองเชียงคาน ซึ่งแนวทางการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีการรวบรวมข้อมูลโดยศึกษาจากเอกสาร และจากข้อมูลภาคสนาม ได้แก่ การสำรวจ การสังเกต การสนทนา และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่ากระบวนการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเชียงคานมีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคุ้มวัด เทศบาล และกลุ่มผู้ประกอบการ มี 5 ขั้นตอน คือ การวางแผน กลยุทธ์ การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การดำเนินงาน การประสานงาน และการจัดการความรู้ด้านต่างๆ ส่วนของบทบาทในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเชียงคาน ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีลักษณะ ดังนี้ การหาแนวทางแก้ไขปัญหา การวางแผนพัฒนา การประสานงาน การให้ความรู้ การลงทุน การประชาสัมพันธ์ และการมีรายได้จากการท่องเที่ยว บทบาทที่สำคัญที่สุดในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเชียงคานคือ การหาแนวทางแก้ไขปัญหา การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวต่างๆ ของเทศบาลตำบลเชียงคาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาเมืองเชียงคาน บทบาทที่สำคัญรองลงมา คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของเทศบาลตำบลเชียงคาน สำนักงานจังหวัดเลย และผู้ประกอบการนอกพื้นที่ สำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งจัดตามลำดับความสำคัญในขั้นตอนการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา ได้แก่ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน ขั้นตอนการวางแผนดำเนินการ ได้แก่ เทศบาล และกรมโยธาธิการ และผังเมือง ขั้นตอนการลงทุนและดำเนินงาน ได้แก่ ผู้ประกอบการ เทศบาล ภาคประชาชน และชมรมต่างๆ และขั้นตอนการติดตามประเมินผลงาน ได้แก่ เทศบาล และสภาเมืองเชียงคาน ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเชียงคาน คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละภาคส่วนขาดการบูรณาการในเรื่องแผนการจัดการการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม รวมทั้งการบริหารงานของแต่ละภาคส่วนยังไม่ชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองเชียงคานที่เหมาะสม คือ แนวทางการพัฒนาโดยการใช้โมเดลการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีพัฒนาการมาจากการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนโดยมีชุมชนเป็นฐาน และมีการจัดทำโครงการการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น โดยสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชน และผู้คนเจ้าของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ทำให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ และเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างจิตสำนึกของชุมชนร่วมกันในการรักษาสมดุลของ และสร้างฐานความรู้สำหรับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน